สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิทานพหุปัญญา

นิทานพหุปัญญา



นิทานพหุปัญญา

       การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning) คือ วิธีการที่ใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของสมองมาใช้
พัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของสมอง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดศักยภาพสูงสุดตาม
ความสามารถของแต่ละคน ซึ่งช่วงวัยที่ดีที่สุดในการพัฒนาสมองตามแนวคิดนี้คือในช่วงวัยตั้งแต่ แรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 7 ขวบ
หรือบางทีอาจจะถึง 10 ขวบเลยก็เป็นได้  ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการ  เช่น การได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอ
การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเล่นหรือการได้รับสิ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้  และรวมไปถึงภาวะความเครียดและ
ความวิตกกังวลอีกด้วย

       ในระบบการจัดการศึกษานั้น ช่วงวัยที่ดีที่ควรจัดการศึกษารูปแบบนี้ควรอยู่ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา BBL
มีความสอดคล้องกันมากกับทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Garder)
นักจิตวิทยาพัฒนาการ ที่ได้แบ่งปัญญาของมนุษย์ออกเป็นอย่างน้อย  8 ด้าน ด้วยกัน คือ  ด้านภาษา  ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์
ด้านมิติสัมพันธ์  ด้านดนตรี  ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  ด้านความเข้าใจตัวตน  ด้านมนุษย์สัมพันธ์  และด้านรอบรู้ธรรมชาติ
ซึ่งทุกคนจะมีปัญญาทั้ง 8 ด้าน แต่จะมากหรือน้อย ในแต่ละด้านแตกต่างกันไป  ทำให้แต่ละคนมีการเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญา
ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามความถนัดและความสนใจอีกด้วย  ดังนั้น  ครูผู้สอนและผู้ปกครองควรตระหนักในความแตกต่าง
ทางด้านปัญญาและพัฒนาการของเด็กเพื่อที่จะส่งเสริมความสามารถของเด็กให้ได้เต็มศักยภาพ

หมายเหตุ : ปัจจุบันตามงานวิจัย พหุปัญญาได้แบ่งเป็นอย่างน้อย 9 ด้าน  ด้านที่ 9 คือด้านการคิดใคร่ครวญ

 

1. ด้านภาษา  ( เรื่อง : นานา ดีใจ /  นานา มาทะเล )      

          เสริมสร้างพหุปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านภาษาดี  จะมีนิสัยรักการอ่าน
ชอบเขียน ชอบพูด  สามารถเล่าเรื่องต่างๆได้ดี ดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านภาษา  โดยให้เด็กฝึกอ่านได้ด้วยตนเอง
โดยเริ่มจากคำที่อ่านง่าย  เน้นเพียงการประสมพยัญชนะและสระจะช่วยให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้คำและภาษาได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น 


2. ด้านคณิตศาสตร์   ( เรื่อง : นานา เก็บของเล่น / นานา ออมเงิน )

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์  (Logical-Mathematical  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านตรรกะ
และคณิตศาสตร์ดี  จะทำอะไรที่เป็นระบบระเบียบตามขั้นตอน  มีทักษะในการใช้เหตุผลชอบทดลองแก้ปัญหา  สนุกกับการ
คิดคำนวณตัวเลข  ดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านคณิตศาสตร์โดยเล่านิทานที่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักใช้ความคิดที่เป็นระบบ
รู้จักลำดับก่อนหลัง สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับตัวเลขและการคิดคำนวณ  จะช่วยให้เด็กเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

3. ด้านมิติสัมพันธ์  ( เรื่อง : นานา ทำขนมบัวลอย / นานา ชอบผักและผลไม้ )       

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านมิติสัมพันธ์ดีจะมีความสามารถในการรับรู้
ทางสายตาได้ดี  ไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง  สามารถมองและถ่ายทอดเกี่ยวกับพื้นที่  รูปทรง  ระยะทาง  และตำแหน่ง  ได้โดย
มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  ดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านมิติสัมพันธ์  โดยเล่านิทานที่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องสี  ศิลปะ  และทิศทาง
สนับสนุนให้เด็กใช้จินตนาการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้  เข้าใจและประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับ
มิติสัมพันธ์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


4. ด้านดนตรี  ( เรื่อง : นานา ร้อง โด เร มี / นานา รักดนตรี )

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านดนตรี (Musical  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านดนตรีดี  จะแยกแยะเสียงต่างๆ รู้จักท่วงทำนอง
เรียนรู้จังหวะดนตรีได้ดี  ดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านดนตรีโดยเล่านิทานที่ส่งเสริมให้เด็กรักเสียงดนตรี  ทำความรู้จักกับ
เครื่องดนตรีไทยและสากล  รู้จักวิธีการเล่นพื้นฐานของเครื่องดนตรี  เรียนรู้ลำดับตัวโน๊ตและเสียงสูงต่ำ ให้เด็กสนุกกับการ
พูดประโยคและออกเสียงตัวโน้ตตาม  หรืออาจประกอบการเล่านิทานด้วยการเคาะจังหวะหรือเครื่องดนตรีไปพร้อมๆกัน 
จะช่วยให้เด็กเข้าใจดนตรีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


5. ด้านร่างกาย   ( เรื่อง : นานา ออกกำลัง / นานา เต้นรำ )   

          เสริมสร้างพหุปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  (Bodily-Kinesthetic  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย
และการเคลื่อนไหวดี  จะชอบการเคลื่อนไหวร่างกาย  ไม่อยู่นิ่ง  ชอบเล่นกีฬา  เต้นรำ  หรือทำงานประดิษฐ์  ดังนั้น การเสริมสร้าง
ปัญญาด้านร่างกาย  โดยเล่านิทานที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆในกิจกรรมประจำวัน  สอดแทรก
ให้ได้รับประสบการณ์ตรง  โดยการปฏิบัติจริงจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น 


6. ด้านเข้าใจตัวตน  ( เรื่อง : นานา เด็กดี / นานา ไม่กลัว )

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านเข้าใจตัวตน (Intrapersonal  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านเข้าใจตัวตนดี  จะมีความสามารถ
ในการรู้จักตัวตนของตนเอง  รู้เท่าทันความคิดตนเอง  รู้ถึงข้อบกพร่องและจุดเด่นของตนเอง  ควบคุมการแสดงออกได้เหมาะสม
ตามกาลเทศะ  รู้ว่าเมื่อใดควรเผชิญหน้า  เมื่อใดควรหลีกเลี่ยง  เมื่อใดควรขอความช่วยเหลือ  ดังนั้น การเสริมสร้างปัญญา
ด้านเข้าใจตัวตน  โดยเล่านิทานที่ให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนที่เหมาะสม  สอดแทรกและปลูกฝังให้เด็กมีสติ มีสมาธิในการ
ทำกิจกรรมต่างๆ  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เข้าใจตัวตน  ปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม  และมีความสุขในการดำเนินชีวิต


7. ด้านมนุษยสัมพันธ์  ( เรื่อง : นานา ชอบไปโรงเรียน / นานา จัดงานวันเกิด )    

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ดี  จะมีความสามารถ
ในการเข้าใจผู้อื่น  ชอบเข้าสังคม  เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ 
โดยเล่านิทานที่ให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในการเข้าสังคม  และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่น  ได้อย่างเหมาะสมและประทับใจ
จะช่วยให้เด็กเรียนรู้  เข้าใจผู้อื่น  ปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข


8. ด้านธรรมชาติ  ( เรื่อง : นานา เปียกฝน / นานา กับหนอนหนังสือ )      

เสริมสร้างพหุปัญญาด้านธรรมชาติ (Naturalistic  Intelligence) เด็กที่มีพัฒนาการทางด้านรอบรู้ธรรมชาติดี  จะมีลักษณะนิสัย
สนใจในสิ่งแวดล้อม  ธรรมชาติรอบตัว และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  ชอบปลูกต้นไม้  ชอบเลี้ยงสัตว์  มีความรู้สึกที่ไวต่อการ
เปลี่ยนแปลงของอากาศดังนั้น การเสริมสร้างปัญญาด้านรอบรู้ธรรมชาติโดยเล่านิทานที่ให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว 
และจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

 
       ความคล้ายคลึงของแนวคิดการเรียนรู้ใช้สมองเป็นฐาน (BBL) กับทฤษฎีพหุปัญญา(MI) นี้ก็คือ  การคำนึง ถึงความแตกต่าง
ของแต่ละบุคคล  โดยความแตกต่างนั้นจำเป็นที่จะต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายตามไปด้วย
เพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถเรียนรู้ได้อย่างดี  และมีประสิทธิภาพตามความสามารถที่พึงมีของแต่ละคน 



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view