สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวการสอนแบบต่างๆ

แนวการสอนแบบต่างๆ
การสอน...
     การสอน คือ กระบวนการในการดำเนินกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยหน้าที่สำคัญของผู้สอนคือช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ หรือมีความรู้และทักษะตามที่หลักสูตรได้วางไว้ นักจิตวิทยาได้พยายามทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ และได้ค้นพบหลักการที่ใช้ประยุกต์ เพื่อการเรียนรู้ในโรงเรียน จนเกิดเป็นทฤษฎีการเรียนรู้หลากหลายทฤษฎี แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวทางในการสอนแบบต่างๆ  7 ทฤษฎี คือ


1.  แนวการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori)

       จะเน้นอุปกรณ์การสอนหรือสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัสด้วยมือ และเล่นอุปกรณ์ที่ครูเตรียมให้ตามความสนใจของตนเอง โดยหลักการสอนตามแนวมอนเตสซอรี่นั้น ครูต้องเป็นผู้จูงใจให้เด็กเกิดการค้นพบด้วยตนเองจากการสังเกต การเรียนรู้แต่ละเรื่องต้องสอดคล้องกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล เด็กมีอิสระในการเลือกอุปกรณ์และกิจกรรมการเรียนรู้จึงเน้นการสัมผัสสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวิชาพื้นฐานพร้อมสาระหลักที่ต้องเรียนร่วม ได้แก่ การอ่าน การเขียน เลขคณิต สุขอนามัย และการเคลื่อนไหว


2.  แนวการการสอนแบบโครงการ (The Project Approach)

     เป็นการสอนที่ให้เด็ก ได้สืบค้นข้อมูลอย่างลึกในเรื่องที่เด็กสนใจ  เพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองประกอบด้วยกระบวนการ 5 ข้อดังนี้

1. การอภิปรายกลุ่ม จะช่วยให้เด็กแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนสนใจกับเพื่อน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดแก่กัน
2. การศึกษานอกสถานที่ ในระยะแรกครูอาจพาไปศึกษานอกห้องเรียน เพื่อเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียนก่อน
3. การนำเสนอประสบการณ์เดิม เป็นการทบทวนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เดิมในเรื่องที่ตนสนใจกับเพื่อนในชั้นเรียน
4. การสืบค้นงานโครงการเปิดกว้างให้ใช้แหล่งค้นคว้าข้อมูลอย่างหลากหลายตามหัวเรื่องที่สนใจ โดยการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองของตนเอง หรือ บุคคลในครอบครัว
5. การจัดแสดง สามารถทำได้หลายรูปแบบ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ที่ได้จากการสืบค้นแก่เพื่อนในชั้นเรียน  

      การสอนแบบนี้ จะทำให้ครูและเด็กมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เด็กได้ฝึกการค้นคว้าทำให้มีประสบการณ์ใหม่ เพราะการค้นคว้าถือเป็นหัวใจของการสอนแบบโครงการ


3.  แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)

     เป็นการสอนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของคนเกิดจากความสมดุลของความคิด ความรู้สึก หากเด็กอยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกสบายใจ  ผ่อนคลาย  เด็กจะถ่ายทอดความคิดและเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมที่เขากระทำอยู่ แนวคิดนี้จึงเน้นการเรียนรู้ของเด็กให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยหัวใจของการสอนแบบวอลดอร์ฟ คือ การสร้างสมดุลของจิตมนุษย์ 3 ประการ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก    

      

4.  แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist Education)

      เป็นการนำศาสตร์ตะวันออกกับความทันสมัยแบบตะวันตกมาผสานเข้าด้วยกัน เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะในขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลง และวิธีการสอนใหม่ๆ รวมเข้าไปด้วย โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในเด็กเล็กเพราะวัยอนุบาล เป็นวัยที่สอนได้ง่าย และยังเชื่ออีกว่า ความก่ง ความฉลาด เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน แต่มนุษย์ดึงมาใช้แค่ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และเชื่อว่าความเป็นคนสมบูรณ์นั้น เกิดจากศักยภาพที่สำคัญ 4 ด้าน คือ

1. ร่างกาย (Physical) จะต้องแข็งแรง
2. จิตใจ (Mental) ถ้ารูปร่างดีแข็งแรง แต่จิตใจไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่มีประโยชน์
3. ความมีน้ำใจ (Spiritual) มีความรักให้กับคนอื่นในวงกว้าง ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
4. วิชาการ (Academic) ถ้าเราไม่มีวิชาการ ก็ไม่มีความรู้ 


5. แนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia)

     แนวคิดนี้ มีความเชื่อว่าเด็กๆ สามารถสร้างทฤษฎี ความเชื่อ และความเข้าใจในสิ่งที่เด็กสนใจได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็แต่ละคนจะสร้างทฤษฎี ความเข้าใจที่ต่างกันไป ครูปฐมวัยจึงไม่ควรรีบเร่งให้คําตอบที่ถูกต้องกับเด็ก เพราะการเรียนรู้ตามแนวคิดเรกจิโอไม่ใช่เรียนจากแบบเรียนสําเร็จรูปที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการเรียนรู้จากการค้นหาข้อมูล และจากความรู้ที่จะตอบคําถามตามทฤษฎีความเชื่อของเด็ก คือ ค่อยๆ อธิบายและตอบคำถามที่เด็กสงสัย โดยพยายามโยงเข้าสู้ทฤษฎีหรือเนื้อหาที่ถูกต้องจนเด็กยอมรับในทฤษฎีนั้นในที่สุด


6.  แนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence)

     เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ที่เชื่อว่ามนุษย์โดยปกตินั้นมีปัญญา ในตัวตนอยู่หลายด้านด้วยกัน ความสามารถแต่ละด้านนั้นจะมีความโดดเด่นในตัวของคนที่แตกต่างกันไป โดยปัจจุบันทฤษฎีพหุปัญญามีทั้งหมด 9 ด้าน ดังนี้
1.  ปัญญาด้านภาษา ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ
2.  ปัญญาด้านตรรกะ และคณิตศาสตร์ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุผล การคาดการณ์และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
3.  ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ มีการรับรู้ทางสายตาที่ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง
4.  ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ความสามารถในการควบคุมความรู้สึก ใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี และไวทางประสาทสัมผัส
5.  ปัญญาด้านดนตรี เข้าถึงสุนทรียศาสตร์ทางดนตรีได้ง่าย ทั้งการได้ยิน การจดจำจังหวะ ท่วงทำนอง และโครงสร้างทางดนตรี
6.  ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ หรือการรู้ผู้อื่น ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น พูดจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่ต้องมีอยู่ในทุกคน
7.  ปัญญาด้านการรู้ตนเอง ความสามารถในการรู้จักตนเอง แล้วใช้ความรู้นี้ในการวางแผน และชี้นำชีวิตของตนเอง   
8.  ปัญญาด้านธรรมชาติ ความสามารถในการสังเกตการเป็นอยู่ของธรรมชาติ สามารถกำหนดและจัดหมวดหมู่ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดี
9.  ปัญญาในการคิดใคร่ครวญ ชอบคิด ใคร่รู้ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต และเรื่องเหนือจริง 


7.  แนวคิดการสอนแบบไฮสโคป (High/Scope)

     เป็นการเรียนรู้ให้เด็กริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการวางแผน ลงมือปฏิบัติและทบทวนผลงานของตนเองโดยมีครูเป็นผู้สังเกต ให้คำปรึกษา การที่เด็กได้ลงมือทำงานหรือกิจกรรมตามความสนใจของตัวเด็กเอง จะทำให้เด็กเกิดความสนุกในการเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรม ทำให้เด็กได้ฝึกสมาธิทำให้เกิดปัญญา ฝึกความมีระเบียบ ผลที่จะเกิดตามมาถือเป็นความสำเร็จของเด็กๆ ในการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมกับเพื่อนๆ และบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข

                                    


    เอกสารอ้างอิ: กุลยา ตันติผลาชีวะ. รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัย. กรุงเทพฯ : บริษัท เอดิสัน เพรดโปรดักส์ จำกัด . 2545.
                           
 จีรพันธ์ พูลพันธ์ และคำแก้ว ไกรสรพงษ์. การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย : ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. 2543.

                          ทักษิณ ชินวัตร, จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และพรพิไล เลิศวิชา. เด็กไทยใครว่าโง่ เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ทันโลก. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด ( มหาชน ). 2548.
                          ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2545.
                          วิศิษฐ์ วังวิญญู. เด็กตามธรรมชาติ คู่มือและเสริมสร้างศักยภาพเด็กในเจ็ดปีแรก. พิมพ์ครั้งที่ 2 แปลจาก A Gaia Original Natural Early Childhood. กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา. 2551.
                             อารี สัณหฉวี และอุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์. 15 สิงหาคม 2548. พหุปัญญา (Online). Available URL: http://www.thaigifted.org

Tags : แนวการสอน

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view