สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"6Q" ศักยภาพที่สร้างได้

"6Q" ศักยภาพที่สร้างได้

“6Q” ศักยภาพที่สร้างได้
เรียบเรียงโดย บรรณาธิการ ED-TECH

 

      ปัจจุบันกระแสความนิยมของผู้ปกครองในสังคมไทยมักมีความต้องการให้ลูกน้อยของตน
มีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากการพยายามให้เด็กเรียนหนังสือ
เพิ่มเติมความรู้กันตั้งแต่ยังเล็กๆ จนลืมนึกไปว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพนั้น
ความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เด็กต้องมีศักยภาพและความสามารถในด้านอื่นๆ
ประกอบกันไปด้วย ดังนั้น ในการพัฒนาศักยภาพที่ดีแก่เด็กนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง
เริ่มต้นพัฒนากันตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยในระยะเริ่มแรกผู้ปกครองต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกน้อย
ของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการทุกด้านเหมาะสมตามช่วงวัยของตนเอง

      เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพของเด็กให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ED-TECH จึงขอพาผู้อ่าน
ทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “แนวทางการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ตามแนวคิด 6Q” โดยอาศัย
การพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ที่สำคัญทั้ง 6 ด้าน คือ IQ, EQ , AQ, MQ, PQ และ SQ
ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองควรจะเสริมสร้างให้แก่เด็ก เพราะคือหัวใจหลักในการ
พัฒนาให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป 

6Q” หมายถึงอะไร...

      นักวิชาการหลายท่านมีความเชื่อว่าเด็กที่มีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาด
ทางอารมณ์ (EQ) จะทำให้เด็กเหล่านี้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่ด้วยในปัจจุบันวิทยาการต่างๆ ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ความสามารถเพียงสองด้านนี้
ไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้มนุษย์เราต้องพัฒนาขีดความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้น
จนเกิดเป็นความสามารถด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น AQ, MQ, PQ และ SQ ซึ่งแต่ละด้าน
ล้วนมีความสำคัญแตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เรามาดูความหมาย
ของความสามารถแต่ละด้านกันดีกว่าครับ ว่าคืออะไรกันบ้าง...

        IQ : Intelligence Quotient  หมายถึง ความสามารถทางด้านสติปัญญา เชาวน์ไหวพริบ
และความสามารถในการแก้ไขปัญหา รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์ การคำนวณ และการใช้
เหตุผลในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองสามารถเสริมสร้าง IQ ให้แก่ลูกน้อยของท่านได้ ด้วยการฝึก
ให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ เช่น การมองเห็น ได้ยิน
ได้กลิ่น ลิ้มรส และการสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นประจำ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้สมองได้เกิด
การเรียนรู้ หรือให้เด็กได้ลองเล่นด้วยตนเองโดยมีผู้ปกครองคอยชี้แนะแนวทาง เพื่อฝึกให้เด็กได้ใช้
ทักษะและไหวพริบในการแก้ไขปัญหา เช่น การเล่นเกมต่อภาพตัดต่อ หรือเกมจับคู่บัตรคำกับภาพ
ก็ได้เช่นกัน             

         EQ : Emotional Quotient หมายถึง ความสามารถทางด้านอารมณ์ คือ การแสดงออก
ทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
มีความเชื่อมั่นในตนเอง มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ซึ่งผู้ปกครองสามารถเสริมสร้าง EQ ให้แก่ลูกน้อย
ของท่านได้ ด้วยการให้เด็กฝึกทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สมาธิ เช่น การฟังเพลง การอ่านนิทาน
หรือการฟังนิทานหรือเรื่องราวต่างๆ จากผู้ปกครอง โดยในขณะที่เล่าเรื่องให้เด็กฟังนั้น เมื่อตัวละคร
ในเรื่องเจอปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ผู้ปกครองควรชี้แนะวิธีการคิดแก้ไขปัญหาให้แก่เด็ก ว่าหากเรา
เป็นตัวละครในนิทาน เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เช่น เมื่อเพื่อนเดินมาชนเราล้ม แล้วเขามาขอโทษเรา
เราควรจะทำอย่างไรต่อไป... ผู้ปกครองต้องเว้นช่วงให้เด็กได้คิดตัดสินใจ หากเด็กตอบคำถามแล้ว
ผู้ปกครองควรใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดต่อว่า ผลของการตัดสินใจแบบนี้จะเป็นอย่างไร
กล่าวโดยสรุป ก็คือ เป็นการฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ของตนเองโดยผ่านกระบวนการคิด จากเหตุการณ์
หรือสถานการณ์ต่างๆ นั่นเอง  

          CQ : Creativity Quotient หมายถึง ความสามารถทางด้านศิลปะ การคิดอย่างสร้างสรรค์
มีความคิดหรือจินตนาการในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เช่น การเล่น การทำงานศิลปะ การประดิษฐ์สิ่งของ
ดังนั้น CQ จึงสัมพันธ์กับเรื่องของการใช้จินตนาการผ่านการเล่น หรือในการทำกิจกรรมต่างๆ หากเด็ก
มีอิสระสามารถทำอะไรตามความชอบและเหมาะกับวัยของตนเอง เด็กก็จะมีความคิดสร้างสรรค์
มีจินตนาการมากกว่าเด็กที่ถูกจำกัดขอบเขตหรือถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะการใช้จินตนาการ
ถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ในวัยเด็ก ดังนั้นการปลูกฝังในเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าจะมีเวลาฝึกฝน
ให้ลูกน้อยทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการมากน้อยเพียงใด สำหรับกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาการด้าน CQ
ได้แก่ การทำงานศิลปะต่างๆ การแสดงบทบาทสมมติ และการเล่านิทาน เป็นต้น

          MQ : Moral Quotient หมายถึง ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม มีความคิดที่ดี
รู้จักรับผิดชอบและประพฤติตนเป็นคนดี และมีความซื่อสัตย์สุจริต MQ จึงเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้น
ในเรื่องของการปลูกฝังความดีงามให้กับเด็ก ซึ่งตรงกับหลักศาสนาหลายศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดี
เด็กที่มี MQ ดีมักเป็นเด็กเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ส่วนการที่เด็กจะมี MQ ได้นั้น ต้องเริ่มต้น
จากการสอนให้เด็กรู้จักถูกผิด สิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง
อย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสอนจึงจะเกิดผล เพราะหากสอนเด็กโดยใช้วิธีบอกด้วยคำพูด
เพียงอย่างเดียวนั้น เด็กอาจจะไม่เข้าใจและไม่เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

            PQ : Play Quotient  หมายถึง ความสามารถที่เกิดจากการเล่น PQ มาจากความเชื่อที่ว่า
การเล่นจะช่วยพัฒนาทักษะความสามารถในด้านต่างๆ ของเด็ก ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา
ด้านสังคม และด้านอารมณ์ ดังนั้น PQ จึงเน้นให้เด็กได้เล่นกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ถือเป็นสื่อทางการเล่น
ที่ดีที่สุดของลูก กล่าวคือ ในขณะที่พ่อแม่เล่นกับลูกและพยายามอธิบายหรือสอดแทรกความรู้ในเรื่อง
ต่างๆ ให้แก่ลูกนั้น ถือเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการให้เกิดขึ้นกับลูกได้ดีกว่าของเล่นชนิดอื่น นอกจากลูก
จะได้พัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาแล้ว ลูกยังได้รับความรัก ความอบอุ่นไปพร้อมกับคำสอนต่างๆ
จากพ่อแม่ในระหว่างการเล่นด้วย

            AQ : Adversity Quotient หมายถึง ความสามารถในการแก้ไขปัญหา สามารถแก้ไข
สถานการณ์ในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือความยากลำบาก ดังนั้น
ความฉลาดในด้านนี้จึงเป็นการเรียนรู้มาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ โดยเด็กจะซึมซับวิธีแก้ปัญหาต่างๆ
มาจากผู้ใหญ่ หากจะพัฒนา AQ ให้เด็กเพิ่มมากขึ้นนั้น พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกเผชิญกับ
ปัญหา และให้เขาได้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง อาจมีการชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แก่เด็ก แต่ไม่ควร
บอกทั้งหมด เพราะหากบอกวิธีการทั้งหมดเด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

      สำหรับการพัฒนาทักษะความสามารถในด้านต่างๆ ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ผู้ปกครองควรจะพัฒนา
อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการจะบังคับให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านให้อยู่ในขั้นดีทั้งหมดนั้น
อาจจะเป็นไปไม่ได้ ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่ลูกของท่านและเฝ้าสังเกตการณ์
ถึงพัฒนาการความสามารถของเด็กแต่ละคน เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างครบถ้วน
เพราะฉะนั้นแล้วหากเราต้องการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เราต้องส่งเสริมให้เด็ก
มีศักยภาพรอบด้านควบคู่ไปกับการให้ความรัก ความเอาใส่ใจจากครอบครัว รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อม
ให้มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กด้วย

      เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับความรู้ดีๆ ที่ ED-TECH นำมาฝากในวันนี้ สำหรับในครั้งหน้าเราจะนำ
สาระดีๆ อะไรมาฝากท่านผู้อ่านอีก ต้องคอยติดตามนะครับ...


บรรณานุกรม

จอม ชุ่มช่วย. “ความฉลาดทางอารมณ์ : Emotional Intelligence.” วารสารการศึกษาปฐมวัย ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 

          กรกฎาคม 2540.

งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชศาสตร์ , โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย
          เชียงใหม่. 
การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก  [Online]. Accessed 15  June 2014. Available
          from :
http://www.med.cmu.ac.th/hospital/nped/2011/index.php?option=com_content&view
          =artile&id

ณ ลันตา. เสริม 6Q ให้ลูกด้วยตัวคุณเอง [Online]. Accessed 10 July 2014. Available from : http://

          motherandchild.in.th/content/view/1007/

นงพงา ลิ้มสุวรรณ. เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข. พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพฯ : พรินท์ติ้งเพรส, 2542.

แพง ชินพงษ์. วิธีส่งเสริมพรสวรรค์ลูกรัก. [Online]. Accessed 11 July 2014. Available from :
          http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000087383

รู้จักกับอัจฉริยภาพทั้ง 6 ด้านที่เสริมสร้างได้ตั้งแต่เด็ก. [Online]. Accessed 10 July 2014. Available
          from : 
http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=53&id=1517

6Q ความฉลาดที่สร้างได้.  [Online]. Accessed 10 July 2014. Available from : http://www.
          assumption.
ac.th/articles/6Q/6Q.html

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view