สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน (Project-based learning : PBL) สำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน (Project-based learning : PBL) สำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน (Project-based learning : PBL) สำหรับเด็กปฐมวัย

เรียบเรียงโดย บรรณาธิการ ED-TECH


      ในปัจจุบันการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตของทุกคน เนื่องจากการศึกษาถือเป็นรากฐาน
ที่ช่วยให้ชีวิตเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันมีวิธีจัดการเรียนรู้หลายรูปแบบ เช่น
การสอนแบบหน่วย การสอนโดยสถานการณ์จำลอง การสอนแบบโครงงาน ฯลฯ โดยเฉพาะ
เราต้องให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ วิธีจัดการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้
จึงมีความสำคัญมากเพราะจะส่งผลต่อทัศนคติทางการเรียนของเด็ก

      วันนี้ทาง Ed-Tech จึงมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับการจัดประสบการณ์แบบโครงงาน
(Project-based learning : PBL) มาฝากกันค่ะ ซึ่ง PBL เป็นวิธีจัดการเรียนรู้ชนิดหนึ่ง
ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองมากกว่าเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว

ที่มาและความหมายของ “การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน”

      เริ่มจาก John Dewey ได้เสนอแนวคิด “เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Learning by doing)”
ในหนังสือชื่อ My Pedagogical Creed (1897) โดยเขากล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาว่า
“ครูไม่ใช่ผู้กำหนดความคิดหรือจัดพฤติกรรมแบบหนึ่งแบบใดให้กับเด็ก แต่เป็นสมาชิกของชุมชน
ที่จะสร้างอิทธิพลที่มีผลให้เด็กช่วยตนเองได้ตอบสนองกลับมาอย่างเหมาะสม ที่จะเกิดการ
แสดงออกที่สร้างสรรค์ภายในศูนย์การเรียนรู้ที่ถูกต้อง”

      การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน (Project-based learning : PBL) นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่
ในวงการการศึกษา โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวคิดให้เด็กเรียนรู้ผ่านโครงงาน
มานานแล้ว นับตั้งแต่ที่ John Dewey ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวนั้น ได้มีผู้ต่อยอดและพัฒนาเรื่อยมา
จนกระทั่งการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบโครงการ ได้รับการพัฒนารูปแบบ
ให้ชัดเจนขึ้นโดย Katz ชาวอเมริกา และ Chard ชาวแคนาดา ซึ่งทั้งคู่ได้รับแรงดลใจจากการ
ดูงานการเรียนการสอนแบบ Project Approach จากโรงเรียนก่อนประถมศึกษาในเมือง
Reggio Emilia ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี และทั้งสองได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อว่า
“Engaging Children’s Minds : The Project Approach” ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งหนังสือเล่มนี้
ได้เป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบโครงการในระยะต่อมา 

      สำหรับประเทศไทยก่อนหน้าปี พ.ศ. 2539 ยังไม่มีการกล่าวถึงการจัดการเรียนการสอน
แบบโครงการมากนัก ส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อของโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project)
ซึ่งจำเพาะเจาะจงการทำโครงงานวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น

      ความหมายของ “การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน” คือ การสอนรูปแบบหนึ่งที่ให้โอกาส
เด็กเรียนรู้ โดยการสืบค้นหาข้อมูลเชิงลึกในหัวข้อที่เด็กสนใจควรค่าแก่การเรียนรู้ โดยปกติการ
สืบค้นจะทำโดยเด็กกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในชั้นเรียนหรือเด็กๆ ทั้งชั้นทำร่วมกัน หรือบางโอกาสอาจเป็น
เพียงเด็กคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หัวเรื่องที่ถูกเลือกควรมีความหมายต่อชีวิต ต่อตัวเด็ก และคุณครู
สามารถบูรณาการเนื้อหาใส่เพิ่มเติมเข้าไปในการทำโครงงานของเด็กได้ด้วย เช่น บูรณาการ
ทักษะทางคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

      ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของการสอนแบบโครงการ คือ การค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวข้อง
กับหัวเรื่อง โดยคำถามนี้อาจมาจากตัวเด็ก จากคุณครู หรือเด็กร่วมกับคุณครู ซึ่งเด็กๆ จะมีโอกาส
ที่จะวางแผนสืบค้นด้วยตนเอง โดยมีคุณครูเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือในการทำโครงการของเด็ก
และมีการร่วมวางแผนกับสถานศึกษา มีการสัมภาษณ์เด็ก แก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนสิ่งที่เด็ก
เรียนรู้กับบุคคลอื่นๆ (Katz, 1994 ; Helm and Katz, 2001 อ้างถึงใน รศ.ดร.พัชรี ผลโยธิน, ม.ป.ป.)

      กรมวิชาการ แบ่งประเภทโครงงานเป็น 4 ประเภท ได้แก่ โครงงานประเภททดลอง โครงงาน
ประเภทสำรวจ โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ และโครงงานประเภทเชิงทฤษฎี


การจัดประสบการณ์แบบโครงงานสำหรับเด็กปฐมวัย

      การนำระบบ PBL มาใช้นั้น เห็นประโยชน์ได้ชัดกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ลำบากและขัดสน
เมื่อนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบชุมชน เด็กจะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ในการ
ทดสอบตามมาตรฐาน โรงเรียนที่ขาดแคลนได้รับคะแนนวัดระดับเพิ่มขึ้นหลังจากนำระบบ
การสอนแบบ PBL มาใช้ แม้นักเรียนจะต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม แต่พวกเขาก็เป็นอิสระขึ้น
เพราะรับคำสั่งจากครูน้อยลง ทั้งยังได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่จะได้นำไปใช้ศึกษาขั้นสูงต่อไปอีก
เด็กได้เรียนรู้มากกว่าแค่การหาคำตอบ ระบบการสอนแบบ PBL จะช่วยให้ความคิดของเด็ก
กว้างไกลขึ้นและคิดไปได้ไกลว่าที่เคยเป็น
      ศิรินาถ บัวคลี่ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหา
ของเด็กปฐมวัยโดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน” ได้รวบรวมขั้นตอนการจัดกิจกรรม
โครงงานที่นักวิชาการต่างๆ ได้กำหนดไว้ แล้วสรุปขั้นตอนวิธีสอนแบบโครงงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้

            ะยะที่ 1 เด็กเลือกเรื่องที่สนใจอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กได้เล่าประสบการณ์เดิม
เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เด็กร่วมกันตั้งคำถามในสิ่งที่เด็กอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น เด็กเลือกคำถาม
และนำคำถามมาจัดในรูปของแผนภูมิใยแมงมุม (Web)

            ระยะที่ 2 เด็กช่วยกันหาคำตอบเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล ด้วยการสืบค้นข้อมูล
จากแหล่งต่างๆ เด็กได้วางแผนร่วมกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ ดำเนินกิจกรรมตามแผนที่วางไว้
โดยครูเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือในการทำกิจกรรมให้เด็กได้ค้นพบคำตอบ

            ระยะที่ 3 เด็กทบทวนและมีการแลกเปลี่ยนความรู้ไปสู่บุคคลภายนอกด้วยการจัด
นิทรรศการผลงานทั้งของกลุ่มและของรายบุคคล และเชิญคุณครู ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียนชั้นอื่น
เข้าชมนิทรรศการ เด็กนำเสนอผลงาน ตอบข้อซักถามและสรุปผลโครงงานตั้งแต่เริ่มโครงงาน
จนจบโครงงาน

      วัฒนา มัคคสมัน กล่าวถึงเกณฑ์การประเมินโครงงานสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ว่าควรจะมีเกณฑ์
การประเมินในเรื่องต่อไปนี้ กระบวนการคิดและการแก้ปัญหาของเด็ก การใช้กระบวนการทาง
วิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ การนำเสนอด้วยวาจา การตอบคำถาม และแผงโครงงาน
ความยาก
สำหรับครูอย่างหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับโครงงานที่ซับซ้อนหลายโครงงาน ในขณะที่ต้องคอย
สนใจการเรียนของนักเรียนแต่ละคนไปด้วย ดังนั้นครูต้องใช้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม
กับนักเรียนของตน รวมถึงต้องจัดการดูแลโครงงานต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย


ประโยชน์จากการจัดประสบการณ์แบบโครงงานสำหรับเด็กปฐมวัย

      การเรียนรู้แบบการลงมือปฏิบัติ เป็นการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน
ทั้งยังสอดคล้องกับแนวการพัฒนาคนให้มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เยาวชนที่อยู่ในโลก
ศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีทักษะ 3ร. และ 4ก. (พัฒนาจากทักษะ 3Rs ของ William Curtis ในปี
พ.ศ. 2338) ดังนี้

        ทักษะ 3ร.

            1. รู้อ่านรู้เขียน (Literacy) ไม่เพียงแต่อ่านออกเขียนได้ แต่เมื่อทำโครงงานแล้ว เด็กเข้าใจ
ความหมายของคำต่างๆ สามารถสื่อสารคำเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

            2. รู้คณิต (Numeracy) ไม่เพียงแต่คิดเลขเป็นเท่านั้น เด็กสามารถนำความรู้เชิงคณิตศาสตร์
เช่น เลขคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ฯลฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตได้ ตัวอย่าง บอกรูปทรง
เรขาคณิตได้ เป็นต้น

            3. รู้ ICT (Information and communications technology literacy) เด็กเข้าใจและใช้
เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารได้

        ทักษะ 4ก.

            1. การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical thinking) เด็กสามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลได้
ทำให้เข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างแท้จริง

            2. การสื่อสาร (Communication) เด็กใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารได้ รวมทั้งรู้วิธีสื่อสารให้ผู้อื่น
เข้าใจในสิ่งที่ตนต้องการสื่อได้

            3. การทำงานร่วมกัน (Collaboration) เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เรียนรู้การเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม
ตลอดจนการน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น

            4. การสร้างสรรค์ (Creativity) การทำโครงงานช่วยให้เด็กได้จินตนาการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
นอกเหนือจากการเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว

      นอกจากนี้ผลการวิจัยจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็ก
ปฐมวัยโดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน” ของศิรินาถ บัวคลี่ ยังสอดคล้องกับข้อความข้างต้น
โดยผลการวิจัยพบว่าเด็กปฐมวัยมีความสามารถในการทำโครงงานโดยภาพรวมอยู่ในระดับดี คือ
เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการทำโครงงานได้ มีความตั้งใจกระตือรือร้นในการศึกษาค้นคว้าเนื่องจาก
เป็นเรื่องที่เด็กสนใจอยากรู้อยู่แล้ว มีความรับผิดชอบในการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเนื่องจาก
ตระหนักรู้ในหน้าที่ของตน มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
และสรุปผลงานกลุ่ม

      ทั้งนี้เด็กปฐมวัยมีความคิดเห็นว่าการจัดประสบการณ์แบบโครงงานทำให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง มีโอกาส
แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเด็กกับเด็ก และเด็กกับครู


การจัดประสบการณ์แบบโครงงานกับ STEM

      STEM Education เป็นการบูรณาการที่สามารถจัดสอนได้ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง
มหาวิทยาลัย
โดยพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเป็นนโยบายทางการศึกษา ให้แต่ละรัฐ
นำ STEM Education มาใช้
ผลจากการศึกษาพบว่า ครูผู้สอนใช้วิธีการสอนแบบ Project-based
Learning, Problem-based Learning,
Design-based Learning ทำให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์
พัฒนาชิ้นงานได้ดี และถ้าครูผู้สอนสามารถใช้
STEM Education ในการสอนได้เร็วเท่าใด ก็จะยิ่งเพิ่ม
ความสามารถและศักยภาพผู้เรียนได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งขณะนี้ในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา
มีการนำ STEM Education ไปสอนตั้งแต่ระดับวัยก่อนเรียน
(Preschool) ด้วย

      การจัดประสบการณ์แบบโครงงานช่วยให้เด็กได้ฝึกออกแบบอย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย
ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ออกแบบไปนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งการได้ออกแบบอย่างสร้างสรรค์นี้เอง
จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ ตัวอย่าง เช่น โครงงานที่ให้เด็กทดลองสร้างสะพานจำลอง
ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเด็กได้ลองประดิษฐ์สะพานตามการออกแบบของตนแล้ว เด็กสามารถเชื่อมโยง
กับเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้ กล่าวคือเด็กเข้าใจโครงสร้างของสะพานจริงมากขึ้น หากเห็นว่าสะพาน
ในชุมชนชำรุด เด็กจะบอกจุดที่ชำรุดและแสดงความคิดเห็นได้ว่าควรแก้ไขซ่อมแซมอย่างไร ดังนั้น
การออกแบบในโครงงานจะเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดแก้ปัญหาในสะเต็มรวมถึงแก้ปัญหาในชีวิตจริงด้วย

      การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน หรือ Project-based Learning (PBL) เป็นวิธีจัดการเรียนรู้
รูปแบบหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชามาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็ก
ได้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติมากขึ้น ส่วนระยะเวลาการทำโครงงานจะสั้นหรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับ
ความซับซ้อนของโครงงาน ดังนั้นการเลือกวิธีจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กจะยิ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการ
ด้านต่างๆ ของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

      เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระน่ารู้ที่ทาง Ed-Tech นำมาเสนอในวันนี้ สำหรับครั้งหน้าเราจะนำเรื่องราว
น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรมาฝากอีก ต้องคอยติดตามกันนะคะ...


บรรณานุกรม

หนังสือ

วัฒนา มัคคสมัน. (2554). การสอนแบบโครงการ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่ง

      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วรนาท รักสกุลไทย, และคณะครูอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา. สุดยอดเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบครูมือ

      อาชีพ. กรุงเทพมหานคร: แฮปปี้ เลิร์นนิ่ง.

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2542). เอกสารประกอบการอบรมครูวิชาการ

      ปีงบประมาณ 2542 : กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์. 
      กรุงเทพมหานคร: สปช.

วิทยานิพนธ์

วัฒนา มัคคสมัน. (2539). การพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงการในการส่งเริม

      การเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กอนุบาล. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

      คณะครุศาสตร์, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน.

ศิรินาถ บัวคลี่. (2549). การพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยโดยใช้การจัดประสบการณ์

      แบบโครงงาน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะศึกษาศาสตร์,
      สาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ.

บทความในวารสาร

พรทิพย์ ศิริภัทราชัย. (เมษายน-มิถุนายน 2556). STEM Education กับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21.

      วารสารนักบริหาร, 33, 49-56.

ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

กองวิชาวิทยาศาสตร์. การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning : PBL). สืบค้นเมื่อ 26

      สิงหาคม 2557, จาก http://www.afaps.ac.th/~edbsci/km_sci.htm

เชิญตะวัน สุวรรณพานิช. เรียนรู้ผ่านโครงงาน รากฐานใหม่ปฐมวัย. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก

      http://taamkru.com/th/เรียนรู้ผ่านโครงงาน-รากฐานใหม่ปฐมวัย-1/

บุรินทร์ รุจจนพันธุ์. (2556). พีบีแอล (PBL = Project-Based Learning). สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก

      http://www.thaiall.com/blog/burin/5563/

พีระ พนาสุภน. (2556). ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21ST CENTURY SKILLS). สืบค้นเมื่อ 13

      กันยายน 2557, จาก http://www.peerapanasupon.com/ทักษะในศตวรรษที่-21-21st-century
      -skills.html
 
Andrew Miller. (2014). PBL and STEAM Education: A Natural Fit. สืบค้นเมื่อ 13

      กันยายน 2557, จาก http://www.edutopia.org/blog/pbl-and-steam-natural-fit-andrew-miller

view