สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ

ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ

ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ

เรียบเรียงโดย : ผ้าไหม ยังฤทธิ์     

      การประกาศนโยบาย “ค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งหวัง

สร้างประเทศไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเข้มแข็งได้ ต้องมีคนในชาติ
ที่เข้มแข็งก่อน ดังนั้นจึงกำหนดค่านิยมหลักของคนไทยให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนไทยใช้
เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตน โดยค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ มีดังนี้




     ๑. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน หมายถึง
การประพฤติปฏิบัติตนที่แสดงถึงความศรัทธา หวงแหน ปกป้องยกย่องความเป็นชาติไทย ยึดมั่นศาสนา
และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น รู้ความสำคัญและให้ความเคารพชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

      ๒. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม หมายถึง การปฏิบัติตน
ที่แสดงถึงการยึดมั่นในความถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือ รู้จักควบคุมตนเอง
เมื่อประสบกับความยากลำบาก เช่น การเล่นและทำงานกลุ่มรวมกับเพื่อน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ต่อผู้อื่น เป็นต้น

      ๓. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ หมายถึง การประพฤติตนที่แสดงถึงการรู้จัก
บุญคุณปฏิบัติตามคำสั่งสอน แสดงความเคารพ ความเอาใจใส่ และตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่
ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เช่น เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่และครู ดูแลเอาใจใส่ รักและเคารพต่อพ่อแม่
ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เป็นต้น

      ๔. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษา เล่าเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายถึง การปฏิบัติตน
ที่แสดงถึงความตั้งใจเพียรพยายามในการศึกษาเล่าเรียน แสวงหาความรู้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เช่น ตั้งใจศึกษาในเรื่องที่เรียนและเรื่องที่สนใจ มีความอยากรู้และสงสัยในเรื่องต่างๆ แสวงหาความรู้
เพื่อการศึกษาเล่าเรียนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น

      ๕. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม หมายถึง การเรียนรู้ ปฏิบัติตน และเห็นคุณค่า
ที่แสดงถึงการอนุรักษ์ การสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงามด้วยความภาคภูมิใจ เช่น
เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยและสามารถปฏิบัติตามได้ เป็นต้น

      ๖. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน หมายถึง การประพฤติ
ปฏิบัติตนที่ดีงาม ยึดคำมั่นสัญญา มีจิตใจโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น พูดความจริง มีน้ำใจ
ต่อเพื่อน ไม่ลักขโมย เป็นต้น

      ๗. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
หมายถึง การเรียนรู้ ปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน
เคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน รู้จักใช้สิทธิ์และหน้าที่
ของตนเอง ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียน ให้ความร่วมมือโดยใช้เหตุผล เป็นต้น

      ๘. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ หมายถึง การปฏิบัติตน
ตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย มีความเคารพและนอบน้อมต่อผู้ใหญ่
เช่น ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎระเบียบของครอบครัวและชุมชนที่ตนอยู่ แสดงกิริยาที่เหมาะสม
มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ เป็นต้น

      ๙. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ  รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หมายถึง การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีสติ
รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ อย่างรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม เช่น มีสติ รู้ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ นำพระราชดำรัส
ของในหลวงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

      ๑๐. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัส
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้
ถ้าเหลือก็แจกจ่าย และขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
หมายถึง ดำรงชีวิต
อย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้ มีคุณธรรม และอยู่ในสังคมได้อย่าง
มีความสุข ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
ประหยัดอดออม เป็นต้น

      ๑๑. มีความเข้มแข็งทั้งร่ายกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส
มีความละอายเกรง
กลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา หมายถึง การปฏิบัติตนให้ร่างกายและจิตใจ
มีความเข้มแข็ง ละอายเกรงกลัวต่อบาป ไม่กระทำความชั่วใดๆ ยึดมั่นในการทำความดีตามหลัก
ของศาสนา เช่น รู้จักแยกแยะความดีความชั่ว รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นต้น

      ๑๒. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และต่อชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
หมายถึง ปฏิบัติตน เสียสละ ให้ความร่วมมือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และประเทศชาติ
เช่น ร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียน รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งของ
ให้กับผู้อื่น เป็นต้น

      จากนโยบายค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มปรับปรุง
หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองแล้ว เพื่อให้นักเรียนรู้หน้าที่ของคนไทย
มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภูมิใจในชาติและความเป็นคนไทย ซึ่งค่านิยมดังกล่าว
ครอบคลุมและสอดคล้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑ ขณะที่วิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด จะเน้นย้ำให้มีการเรียนการสอน
ที่ครบถ้วนเข้มข้น นอกจากนี้จะทำข้อตกลงกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดหลักสูตรธรรมศึกษาเข้าไป
ในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรีควบคู่ไปด้วย

        เพื่อให้ได้ผลตามที่มุ่งหมายไว้ คือ ประเทศไทยเข้มแข็ง การดำเนินการสร้างค่านิยม
ของคนไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครอบครัวที่ต้องมีความรัก
ความอบอุ่น พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อเนื่องไปถึงระดับชุมชนและสังคม เมื่อเด็กเข้าสู่
โรงเรียนก็จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมจากครูอาจารย์ ซึ่งครูผู้เป็นแบบอย่างที่ดีกับศิษย์
จะสร้างเด็กที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไป


รายการอ้างอิง

ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

กระปุกดอทคอม. (2557). สพฐ. แจ้งทุกโรงเรียนผนวกค่านิยม 12 ประการ เข้าหลักสูตร.  
          สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2558, จาก http://education.kapook.com/view102082.html

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก. (2557). หัวหน้าคสช. เปิดวิสัยทัศน์ คสช. 9
          ยุทธศาสตร์ ตั้งเป้า สร้าง 12 ค่านิยมหลักของคนไทย ที่ต้องปลูกฝัง เน้น สร้างความเข้าใจ
          ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2558, จากhttp://www.thaigov.go.th/th/

          news1/item/84708-id84708.html

พัสณช เหาตะวานิช. (2557). ค่านิยม 12 ข้อ : เราจะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง คนต้องเข้มแข็งก่อน.
           สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2558, จาก http://www.naewna.com/politic/columnist/13422

โรงเรียนศิริสาธิต. [ภาคเรียนที่ 1] กิจกรรมส่งเสริมค่านิยมหลัก 12 ประการ. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2558,  
           จากhttp://www.sirisatid.ac.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539818927&Ntype=2

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ. (2557). ค่านิยมหลัก
           ของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช.. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2558, จาก http://

          www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=38658&Key=news20
           ASTV ผู้จัดการออนไลน์. (2557). ศธ. รับลูก คสช. บรรจุ 12 ค่านิยมคนไทยลงแผนปฏิรูปการศึกษา.
           สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2558, จาก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID

          =9570000078827


สินค้าที่เกี่ยวข้อง

สินค้าชุดโปรโมชั่นราคาพิเศษ : http://www.edtechbooks.com/product-category/359960/
โปสเตอร์ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ : http://www.edtechbooks.com/product/1581339/


view