สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์
เรื่อง/เรียบเรียง : ผ้าไหม  ยังฤทธิ์

       วันสงกรานต์เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทย จากในอดีตที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย จนถึง
ในปัจจุบันนี้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
ร่วมกันทำบุญและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของใครหลายๆ คนด้วย
และเนื่องในวันสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทาง Ed-Tech จึงมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์
มาฝากกันค่ะ

ความหมายและประวัติความเป็นมาของวันสงกรานต์
       “สงกรานต์” เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อนย้ายเข้าไปหรือผ่าน ในที่นี้หมายถึง
วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง เรียกว่า วันสงกรานต์ แต่เฉพาะวันที่
พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์”
ในสมัยโบราณถือเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่

       วันขึ้นปีใหม่ข้างต้นนั้นมีกำเนิดมาจากอินเดีย ต่อมาไทยและชนชาติอื่นๆ ในแถบภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า มอญ ลาว เขมร ต่างรับแนวความคิดนี้มาใช้เป็นวันขึ้นปีใหม่
ประจำชาติของตน

       แม้ปัจจุบันเราจะนับวันปีใหม่ตามสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่คติโบราณที่นับว่าวันสงกรานต์
เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนั้น ก็ยังเป็นที่เชื่อถือสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโหรจะเป็นผู้คำนวณ
โดยอาศัยคัมภีร์สุริยยาตร ตามปกติกำหนดไว้ 3 วัน วันแรกเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่
พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ 2 เป็นวันเนา และวันที่ 3 เป็นวันเถลิงศก

(วันขึ้นปีใหม่ของจุลศักราช) โดยปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน เป็นวัน
เทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ 15 เมษายน และบางปี
เป็นวันที่ 16 เมษายน

       ในสมัยก่อนคนไทยจะให้ความสนใจกับ “ประกาศสงกรานต์” เนื่องจากยังไม่มีเครื่องมือสื่อสาร
ที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ และวันสำคัญต่างๆ เหมือนเช่นในปัจจุบัน
ดังนั้นประกาศสงกรานต์ประจำปีของทางราชการจึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม โดยข้อความในประกาศสงกรานต์ประกอบไปด้วย นางสงกรานต์
และองค์ประกอบอื่นๆ ของนางสงกรานต์ วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก เกณฑ์พิรุณศาสตร์
เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร เกณฑ์นาคให้น้ำ ตลอดจนเกณฑ์วันมงคลและวันอัปมงคล
ประชาชนในสมัยก่อนจึงถือว่าประกาศสงกรานต์เป็นคำทำนายที่บอกให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องน้ำ
อาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองในอนาคต

การจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ในภาคต่างๆ
       วันสงกรานต์ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงวันเถลิงศกหรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็น
ประเพณีสำคัญที่ผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมาก ทั้งด้านครอบครัวที่ลูกหลาน
จะได้กลับไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ และชาวพุทธที่จะได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนา ประเพณีสงกรานต์นั้น
มีกำหนดงาน 3 วัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ซึ่งคนไทยในทุกภูมิภาคมีแนวปฏิบัติ
คล้ายกัน ต่างเพียงรายละเอียดเล็กน้อย ดังนี้

   ภาคกลาง
       ในวันสงกรานต์ ประชาชนจัดเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ในวันนี้ทุกคน
จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส เมื่อทำบุญเสร็จจะบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
เป็นการอุทิศผลบุญไปให้ การกระทำนี้แสดงถึงความกตัญญูที่ลูกหลานมีต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ
ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นอีก ได้แก่ การก่อพระเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา
การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การรดน้ำขอพรจากบุพการีหรือผู้ใหญ่ที่นับถือ การเล่นกีฬาพื้นเมือง
การชมมหรสพต่างๆ

    ภาคใต้
       นภาคใต้เรียกวันสงกรานต์ว่า “วันว่าง” โดยตลอดเวลา 3 วันของเทศกาลสงกรานต์ทุกคนต้อง
ทำตัวให้ว่าง ละ และวางกายใจให้เว้นจากภารกิจการงานทุกอย่าง ต้องทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส
ตลอดทั้ง 3 วัน
       วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันส่งเจ้าเมืองเก่าหรือวันเจ้าเมืองเก่า” ด้วยมีความเชื่อแต่โบราณว่า
ในวันนี้เทวดาผู้คุ้มครองรักษาเมืองจะเดินทางขึ้นไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ชาวบ้านจะทำความสะอาด
บ้านเรือนของตน และยังนิยมประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ที่มีอยู่ลอยน้ำ
ตามเจ้าเมืองเก่าไป และมักสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้ด้วย
       วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” หมายถึง วันที่ปราศจากเทวดาคุ้มครองรักษาบ้านเมือง ชาวบ้าน
จึงงดการทำงาน และพากันไปตักบาตรทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทำบุญอัฐิเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
ที่ล่วงลับไปแล้ว เสร็จจากการทำบุญเลี้ยงพระ ก็มีพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำบิดามารดาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ
นับถือ พิธีรดน้ำนี้เรียกว่า สระหัววันว่าง
       วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า วันเบญจา เป็นวันต้อนรับ
เทวดาองค์ใหม่ ที่จะมาปกปักรักษาดูแลเมืองแทนเทวดาองค์เดิมที่กลับขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว ในวันนี้
ชาวบ้านมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ และยังคงนำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด นอกจากนี้
ยังปล่อยนกปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำกัน รวมทั้งการละเล่นพื้นเมือง และมหรสพต่างๆ
เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ

    ภาคเหนือ
       วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่อง” หมายถึง วันสิ้นสุดศักราชเก่าหรือวันส่งท้ายปีเก่า
ผู้คนจะตื่นแต่เช้า ทำความสะอาดบ้านเรือน ในตอนเช้าจะยิงปืนหรือจุดประทัด เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล
ทั้งหลายให้หมดไป จากนั้นจะชำระล้างร่างกาย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่
และเริ่มเล่นรดน้ำสาดน้ำกัน
       วันที่สองของเทศกาลสงกรานต์ เรียกว่า “วันเนา” เป็นวันที่ชาวบ้านจัดเตรียมอาหารคาวหวาน
และสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และแจกให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ในวันนี้เป็นวันที่ต้อง
ระมัดระวัง ไม่ให้มีอารมณ์ขุ่นเคือง โกรธ ห้ามกล่าวคำหยาบ ด้วยมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดอัปมงคล
ในสมัยก่อนวันเนาเป็นวันที่ชาวบ้านจะร่วมใจกันขนทรายจากริมแม่น้ำเข้าไปกองไว้ที่ลานวัด และเล่น
สาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน
       วันที่สามของเทศกาลสงกรานต์ เรียกว่า “วันพญาวันหรือวันเถลิงศก” เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณี
ตอนเช้า ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระที่วัด ถวายทานพระเจดีย์ทรายที่ก่อไว้ในวันก่อน ทำบุญ
อัฐิบรรพบุรุษ เสร็จแล้วจึงสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธเจดีย์ พระบรมธาตุ และพระสงฆ์
       พิธีกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของภาคเหนือยังมีต่ออีก 2 วัน ในวันที่สี่ เรียกว่า “วันปากปี” ถือกันว่า
เป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำบุญใจบ้านหรือสะดือบ้าน (บริเวณที่ตั้งเสาใจบ้านหรือ
เสากลางหมู่บ้าน) และในตอนสายชาวบ้านจะไปชุมนุมกันที่ใจบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เพื่อทำ
พิธีบูชาท้าวจตุโลกบาล เรียกว่า พิธีแปลงบ้าน และส่งเคราะห์บ้าน
       ในวันที่ห้าของเทศกาลสงกรานต์ คือ “วันปากเดือน” ถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่คือ
เดือนแรกแห่งปี ในวันนี้มีการส่งเคราะห์ต่างๆ ตามแบบที่นิยมกันมาแต่โบราณ ระหว่างเทศกาลจะมี
การเล่นรดน้ำปีใหม่หรือดำหัว การละเล่นมหรสพ และการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ

    ภาคอีสาน
        เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือน และจัดเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า
เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อถึงกำหนดวันสงกรานต์ ก็จะจัดทำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดตลอด
3 วัน หลังการเลี้ยงพระจะสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แล้วทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ เรียกว่า “ซักอนิจจา
หรือชักอนิจจา” จากนั้นจึงมีการละเล่นมหรสพพื้นบ้านต่างๆ ในบริเวณลานวัดนั้นอย่างสนุกสนานทั้ง 
3 วัน
        บางครอบครัวเมื่อเสร็จจากการทำบุญ จะนำอาหารคาวหวานและสิ่งของต่างๆ ไปเยี่ยมอวยพร
บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่ตนนับถือ บางหมู่บ้านระหว่างเทศกาลสงกรานต์จะมีการเล่นรำตรุษ
คือ มีขบวนดนตรีเดินร้องรำตามจังหวะดนตรีผ่านไปตามหมู่บ้าน เนื้อร้องมักกล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของ
วันตรุษสงกรานต์ และอวยพรให้แก่เจ้าของบ้านและคนทั่วไป นอกจากนั้นจะมีการก่อพระเจดีย์ทรายหรือ
ขนทรายเข้าวัด และปล่อยนกปล่อยปลาเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ วันสุดท้ายของเทศกาลจะทำบุญหมู่บ้าน
โดยการปลูกปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ในตอนเย็น รุ่งเช้าจะทำบุญ
ตักบาตร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล เป็นการต้อนรับโชคชัย
ในวันขึ้นปีใหม่

       ดังที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าคนไทยในทุกภูมิภาคให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ ซึ่งในปัจจุบัน
ยังมีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยทางราชการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันที่
14 เมษายนเป็นวันครอบครัวอีกด้วย

กิจกรรมวันสงกรานต์สำหรับเด็ก
       การจะสอนให้เด็กรู้จักวันสงกรานต์นั้น ครู ครอบครัว และชุมชนมีบทบาทสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน
ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ของการสืบทอดประเพณีไทยต่อไป
       เด็กจะจดจำและเข้าใจความหมายของวันสงกรานต์ได้ดีถ้าได้ปฏิบัติจริง โดยครูอาจจัดกิจกรรมการ
เรียนรู้ให้เด็กแสดงบทบาทสมมติหรือทำท่าเลียนแบบกิจกรรมในวันสงกรานต์ ได้แก่ ไปตักบาตร ทำบุญ
สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ปล่อยนก ปล่อยปลา เล่นสาดน้ำ การแสดงบทบาทสมมติทำให้เด็กได้ร่วม
วางแผน ตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ทางสังคม ได้คิดขณะเลียนแบบการกระทำและ
เสียงต่างๆ ได้ใช้ภาษาขณะแสดงความรู้สึกด้วยคำพูด ได้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่สังเกตคุณสมบัติ
ของน้ำที่สรงพระและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ในด้านทักษะคณิตศาสตร์ที่เปรียบเทียบปริมาณของน้ำที่สรงพระ
ขนาดของนกและปลา หรือจำนวนของสัตว์ที่ปล่อย รูปทรงของห่ออาหารที่ตักบาตรทำบุญ ฯลฯ
       เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
พาไปทำบุญตักบาตรที่วัด สอนให้เด็กสรงน้ำพระพุทธรูป พาเด็กไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และเล่นรดน้ำ
สงกรานต์ ควรสอดแทรกสิ่งที่ไม่ควรทำให้เด็กรู้ด้วย เช่น เวลาเล่นน้ำสงกรานต์ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือ
น้ำผสมสี เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เป็นต้น การปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ดังนั้นครูและ
พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก และอบรมสิ่งที่ควรปฏิบัติให้เด็กรู้และเข้าใจ เมื่อเด็กเห็นตัวอย่าง
ที่ดีจากผู้ใหญ่ เด็กก็จะเป็นผู้สืบทอดประเพณีที่ดีงามต่อไป

       เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระน่ารู้ที่ทาง Ed-Tech นำมาเสนอในวันนี้ สำหรับครั้งหน้าเราจะนำเรื่องราว
น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรมาฝากอีก ต้องคอยติดตามกันนะคะ


รายการอ้างอิง

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. นิยามและประวัติความเป็นมาของสงกรานต์. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม
       2558, จาก http://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book
       =35&chap=2&page=t35-2-infodetail01.html

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. ประกาศสงกรานต์. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2558, จาก http://www.
       saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=35&chap=2&page=t35-2-infodetail02.html

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. ประเพณีสงกรานต์ในภาคต่างๆ . สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2558, จาก
       http://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=35&chap=2&page=t35-2-info
       detail04.html

บุบผา เรืองรอง. (2556). สอนลูกเรื่องวันสงกรานต์ (Songkran). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2558, จากhttp://
       taamkru.com/th/สอนลูกเรื่องวันสงกรานต์/


view