เตรียมความพร้อมให้ลูกเพื่อสอบเข้า ป.1 ด้วยสื่อพัฒนาเชาวน์ปัญญาและกระบวนการคิด
เรียบเรียง : ผ้าไหม ยังฤทธิ์
เมื่อผู้ปกครองและครูเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ เพื่อสอบเข้า ป.1 หรือแม้แต่การทำกิจกรรมในชั้นเรียน “ทักษะเชาวน์ปัญญา” เป็นหนึ่งในหลายทักษะที่เด็กควรได้รับการพัฒนาผ่านสื่อที่ช่วยส่งเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิด ดังนั้นพ่อแม่หรือครูจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะเหล่านั้นให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย
วันนี้ ED-TECH มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยมาฝากกันค่ะ เผื่อพ่อแม่หรือครูจะใช้เป็นแนวทางให้เด็กที่กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนต่างๆ ลองติดตามอ่านกันดูนะคะ
ความหมายและความสำคัญของทักษะทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง กระบวนการค้นคว้าทดลอง เพื่อหาข้อเท็จจริง หลักการ และกฎเกณฑ์ ในขณะทดลองนั้นผู้ทดลองมีโอกาสฝึกฝนทั้งด้านปฏิบัติและพัฒนาความคิดไปด้วย เช่น ฝึกสังเกต บันทึกข้อมูล หาความสัมพันธ์ของตัวแปรตาม ตั้งสมมติฐาน และทำการทดลอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการปฏิบัติและการฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ (ชุลีพร สงวนศรี, 2550, อ้างจาก สุรีย์ สุธาสิโนบล, 2541, น.53)
ทักษะทางวิทยาศาสตร์สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมด้วยตัวเอง ตามความสามารถ วุฒิภาวะ และความสนใจตามวัย เด็กจะได้รับประโยชน์จากทักษะทางวิทยาศาสตร์เมื่อใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า นับเป็นการตอบสนองความต้องการ อยากรู้อยากเห็น อยากค้นคว้าทดลอง สังเกต ฝึกการลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดแล้ว ย่อมทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาเพิ่มขึ้นด้วย
โดยลักษณะพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวัย 3-6 ปี กล่าวโดยสรุปได้ว่า เด็กวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางความสามารถในการเรียนรู้จากประสาทสัมผัส เริ่มเรียนรู้จากรูปธรรมในช่วงอายุ 3 ปี และเริ่มเข้าใจนามธรรมเพิ่มขึ้นในช่วงอายุ 4 ปี สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เห็นได้จากการซักถาม อยากรู้อยากเห็น ส่วนความสามารถทางการคิดอย่างมีเหตุผลและทักษะทางภาษา สามารถเรียนรู้คำสัญลักษณ์ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความเป็นจริงได้ดีขึ้นในช่วง 2-6 ปี ส่วนความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจะมีสูงมากในทุกช่วงอายุ สามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และมีความคิดจินตนาการออกมาได้มากตามลำดับอายุ ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาการทางสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย และได้รับการพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ ผู้ใหญ่ควรตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งคอยให้คำแนะนำและความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ (นันทิยา น้อยจันทร์, 2553, น.266-267)
ทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ควรเสริมให้กับเด็กปฐมวัย ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการวัด ทักษะการสื่อความหมาย ทักษะการลงความเห็น ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับเวลา ทักษะการใช้ตัวเลข และทักษะการคาดคะเน
การพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
เด็กควรได้รับการส่งเสริมและฝึกทักษะอย่างสม่ำเสมอด้วยกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูและผู้ปกครองควรสังเกตเรื่องที่เด็กชอบ จะได้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมและกระตุ้นความสนใจของเด็ก ควรคำนึงถึงความยากง่ายของกิจกรรม เนื่องจากเด็กที่ทำกิจกรรมง่ายๆ จนเข้าใจแล้ว จะได้เลือกทำกิจกรรมที่ยากและซับซ้อนขึ้นเพื่อท้าทายความสามารถ สำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถเลือกทำกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ก็สามารถเลือกกิจกรรมที่ตนทำได้ จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จและเห็นคุณค่าในตนเอง (ชุลีพร สงวนศรี, 2550)
การเลือกสื่อที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งสร้างความรู้และเสริมทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้ หนังสือ “หนูน้อยเก่งวิทย์ เล่ม 1-2” และหนังสือ “กระบวนการคิด เล่ม 1-6” เป็นหนังสือกิจกรรมเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา สำหรับเด็กอายุ 2-6 ปี มุ่งพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดของเด็ก อีกทั้งหนังสือชุดนี้ยังได้บูรณาการสาระที่เด็กควรเรียนรู้ ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ และสาระที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเพื่อการเรียนรู้ที่เป็นสากล
ตัวอย่างทักษะทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิด ในหนังสือหนูน้อยเก่งวิทย์และหนังสือกระบวนการคิด
- ทักษะการสังเกตและการจำแนกประเภท
ตัวอย่างจากหนูน้อยเก่งวิทย์ เล่ม 1 หน้า 16
ครูหรือผู้ปกครองควรพาเด็กสำรวจต้นไม้จริง เพื่อให้เด็กสังเกตลักษณะและได้ใช้มือสัมผัสส่วนต่างๆ ของต้นไม้
- ทักษะการลำดับเหตุการณ์และเวลา
ตัวอย่างจากกระบวนการคิด เล่ม 1 หน้า 9, เล่ม 4 หน้า 9 และเล่ม 6 หน้า 17 ตามลำดับ
กิจกรรมจะสอดคล้องกับสาระที่ควรเรียนรู้ทั้ง 4 สาระ และเรียงลำดับความยากง่ายตามพัฒนาการของเด็ก
- ทักษะด้านมิติสัมพันธ์
ตัวอย่างจากกระบวนการคิด เล่ม 5 หน้า 40
กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ และได้รับความรู้เรื่องอาเซียนด้วย
นอกจากนี้แล้วหนังสือ “หนูน้อยเก่งวิทย์ เล่ม 1-2” และหนังสือ “กระบวนการคิด เล่ม 1-6” ยังมีแบบฝึกหัดพัฒนาทักษะอื่นๆ ซึ่งครบถ้วนตามทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เช่น การจัดหมวดหมู่ การเรียงลำดับ การคาดคะเนคำตอบ เป็นต้น
ครูและผู้ปกครองสามารถใช้หนังสือชุดนี้ได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากกิจกรรมที่ง่ายไปสู่การเรียนรู้ที่ยากขึ้น สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก การส่งเสริมพัฒนาการด้านกระบวนการคิดให้เด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย จะช่วยให้เด็กพัฒนาการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนและมีเหตุผล มีความคิดสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง มีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา พร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้นต่อไป
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
หนังสือวิทย์ปฐมวัย กระบวนการคิด เล่ม 1-6 : http://www.edtechbooks.com/product-category/305887/หนังสือวิทยาศาสตร์ปฐมมวัย.html
ชุดเตรียมสอบสาธิต 1 (อายุ 2-3 ปี) : http://www.edtechbooks.com/product/1619398/ชุด-เตรียมสอบสาธิต1.html
ชุดเตรียมสอบสาธิต 2 (อายุ 3-6 ปี) : http://www.edtechbooks.com/product/1619423/ชุด-เตรียมสอบสาธิต2-(สำหรับน้องๆวัยอนุบาลอายุ-3-6-ปี).html
รายการอ้างอิง
ชุลีพร สงวนศรี. (2550). เอกสารประกอบการสอนวิชาเด็กปฐมวัยกับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์.
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.
นันทิยา น้อยจันทร์. (2553). การประเมินผลพัฒนาการเด็กปฐมวัย (พิมพ์ครั้งที่ 4). นครปฐม: นิตินัย.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2554). กรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้
วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.