สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ
เรื่องโดย : บรรณาธิการ ED-TECH

         ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ 2014 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่มีใครรู้หรือไม่ว่า นอกจากเทศกาลปีใหม่แล้วภายในเดือนนี้ยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่จัดขึ้นมาเพื่อเด็ก ๆ โดยเฉพาะ นั่นก็คือ “วันเด็กแห่งชาติ" ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี ดังนั้นทาง ED-TECH ของเรา จึงไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับวันเด็กแห่งชาติมานำเสนอกัน....

กำเนิดวันเด็กแห่งชาติ
         “วันเด็กแห่งชาติ” เกิดจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกนั้นเกิดความตื่นตัว และมีตวามเห็นร่วมกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ  โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเด็ก รวมไปถึงเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนเองที่มีต่อชาติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจัดงานวันเด็กนั้น เป็นไปอย่างกว้างขวาง และส่งผลให้ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ ได้จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติในประเทศของตนขึ้น โดยได้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ

          สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการตอบรับข้อเสนอของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี โดยรัฐบาลไทยได้จัดงานวันเด็กขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

           ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันที่กำหนดมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ในการจัดงาน
           สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันเด็กแห่งชาติของประเทศไทย คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก ให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเองและยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

            นอกจากนี้ ในทุก ๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเด็กนั้นเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ สำหรับคำขวัญวันเด็กประจำปี พ.ศ. 2557 ที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบไว้คือ “กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง"

             จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั่วโลกนั้นได้ให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เด็กเป็นกำลังสำคัญของประเทศจึงต้องมีการปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้แก่เด็ก ซึ่งหน้าที่ในการปลูกฝังทัศนคติที่ดีแก่เด็กนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียว สถาบันการศึกษาเองก็มีส่วนด้วยเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมุ่งปลูกฝังให้เด็กมีคุณภาพอันประกอบด้วยหลักคุณธรรมพื้นฐาน 9 ประการ โดยยึดคุณธรรมนำความรู้และสร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพัฒนากระบวนการคิดของเด็กให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนั้น การจะพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และดำเนินชีวิตที่ดี มีความสุข คุณธรรมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนคุณธรรมพื้นฐานทั้ง 9 ประการ ที่เด็กควรมีนั้น ประกอบด้วย
     1.  ขยัน ผู้ที่มีความขยันต้องตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร มีความพยายามไม่ท้อถอยทำงานต่าง ๆ อย่างตั้งใจ
     2.  ประหยัด ผู้ที่มีความประหยัดนั้นต้องดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย คิดก่อนใช้ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า
     3.  ซื่อสัตย์ ผู้ที่มีความซื่อสัตย์นั้นต้องมีความประพฤติที่ดีต่อหน้าที่ ไม่คดโกง ทั้งทางตรงและทางอ้อม 
     4.  มีวินัย ผู้ที่จะมีวินัยได้ต้องปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถาบัน องค์กร สังคม และประเทศชาติ        
     5.  สุภาพ ผู้ที่มีความสุภาพต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ก้าวร้าว วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย
     6.  สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ
     7.  สามัคคี คือ ผู้ที่มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
     8.  น้ำใจ คือ ผู้ที่ความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
     9.  กตัญญูกตเวที คือ ผู้ที่ยินดีช่วยเหลือและตอบแทนผู้มีพระคุณให้มีความสุขอย่างจริงใจ พร้อมทั้งยกย่องเชิดชูผู้มีพระคุณ            

             ทั้งนี้ ครูที่ต้องการปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็ก จำเป็นต้องศึกษาแนวคิดสำคัญของคุณธรรมเหล่านั้นให้เข้าใจอย่างแท้จริง คำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก และความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกันออกไป ตามพื้นฐานของเด็กและสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นสำคัญ แล้วจึงนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทหรือหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ ในโรงเรียน จึงจะเกิดผลอย่างแท้จริง


เอกสารอ้างอิง
               กระปุกดอทคอม. 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556. คำขวัญวันเด็ก 2557 ประวัติวันเด็กแห่งชาติ. (Online). Available URL : http://hilight.kapook.com/view/17298
               สุภักดิ์ อนุกูล. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : อักษราพิพัฒน์, 2537.
               ศึกษาธิการ, กระทรวง. 4 มกราคม พ.ศ. 2557. ปฏิรูปการศึกษา 9 คุณธรรมพื้นฐาน (Online). Available URL : http://www.moe.go.th
               อดิศร จันทรสุข. รายงานการวิจัยการปลูกฝังคุณธรรมในเด็กปฐมวัยผ่านกระบวนสร้างสรรค์ของแกนนำโรงเรียนวิถีพุทธ. โครงการวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), 2548.

Tags : วันสำคัญ

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view