เรื่อง : “STEM Education” กับการศึกษาปฐมวัย
โดย : บรรณาธิการ Ed-Tech
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. และ 8 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัด
กิจกรรมบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (สะเต็มศึกษา) สำหรับ
เด็กปฐมวัย โดย ผศ.ดร. ชลาธิป สมาหิโต ณ สมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย ซึ่งหัวข้อในการอบรม
ในวันนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการความรู้ให้ครอบคลุมสาระทั้ง 4 สาระ คือ วิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “STEM” ผ่านการจัดกิจกรรม
ที่หลากหลายในห้องเรียน ซึ่งผมก็ได้รับความรู้ใหม่มากมายจากท่านวิทยากร ผศ.ดร. ชลาธิป สมาหิโต
เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ในเรื่อง “STEM Education” ให้มากยิ่งขึ้น ผมจึงสมัครเข้าร่วมอบรม
สัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “STEM” 4 มิติ การเรียนรู้สู่การศึกษาปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 เมื่อวันที่ 16
กุมภาพันธ์ 2557 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้ ดร. ยศวีร์ สายฟ้า มาเป็น
ผู้บรรยายให้ความรู้ และจากการอบรมความรู้เรื่อง “STEM” ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็ทำให้ผมได้รู้จักกับ
“STEM Education” มากยิ่งขึ้น
สำหรับ “STEM Education” หรือ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของ “สะเต็มศึกษา” ถือเป็นการศึกษาที่
กำลังมาแรงในวงการการศึกษาของบ้านเรา และกำลังเป็นที่น่าจับตามองของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับ
การศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับ “STEM
Education” ด้วยเช่นกัน และก่อนที่เราจะพูดถึงรายละเอียดอื่น ๆ ของ “STEM Education” เรามา
ทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของ “STEM Education” กันก่อนดีกว่าครับ
สำหรับ “STEM Education” ได้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลของสหรัฐฯ ได้ประกาศ
ใช้กฎหมายการศึกษาที่สนับสนุนให้มีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในระยะยาวด้วยการศึกษาขึ้น โดยให้นักเรียนได้เริ่มเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับอนุบาลเรื่อยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นการ
ปูพื้นฐานและเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อในสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับสูงของเด็กต่อไป
(โชดก, 2557)
สนใจหลักสูตร STEM ที่ผ่านการรับรองโดย สถาบันคุรุพัฒนา คลิก link เลยค่ะ ^^
https://goo.gl/forms/BaMNs9pfJ48We35d2
“STEM” คืออะไร
ผศ.ดร. ชลาธิป สมาหิโต ได้ให้คำจำกัดความของ STEM ไว้ว่า เป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยนำลักษณะทางธรรมชาติ
ของแต่ละสาระวิชามาผสมผสานและจัดเป็นการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน (ชลาธิป สมาหิโต: 2557, 1)
โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ ที่เป็น
ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ซึ่งชื่อของ “STEM” เกิดจากการย่อชื่ออักษรตัวแรกของ
4 สาระวิชาเข้าด้วยกัน นั่นคือ
Science (วิทยาศาสตร์) คือ การเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยผ่าน
กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งวิทยาศาสตร์นั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้อธิบายกฎเกณฑ์หรือ
ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติโดยใช้หลักและระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1. การสังเกตและการตั้งปัญหาจากสิ่งที่พบ
2. การตั้งสมมติฐาน คือ การคาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ จากสิ่งที่พบโดยใช้เหตุผล
3. การศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล
4. การทดลอง เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของสมมติฐาน
5. การสรุปผล (ทีมงานทรูปลูกปัญญา, 2552)
ดังนั้น วิทยาศาสตร์ จึงเป็นการช่วยพัฒนาให้เรามีทักษะในการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
คิดอย่างมีเหตุผล และมีทักษะในการสืบค้นหาความรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น นั่นเอง
Technology (เทคโนโลยี) ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.
2554 หมายถึง วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ
และอุตสาหกรรม (ราชบัณฑิตยสถาน: 2557, 580) หากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น เทคโนโลยีก็คือ
สิ่งที่เราสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ไม่ใช่มีความหมาย
เพียงแค่คอมพิวเตอร์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ตามยุคสมัย
ต่าง ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรวมไปถึงเครื่องใช้ทั่วไปอย่าง ยางลบ, มีด, กรรไกร,
กบเหลาดินสอ เป็นต้น
Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) คือ ทักษะกระบวนการในการออกแบบ สร้างแบบ รวมไปถึง
การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการใช้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ออกแบบผลงาน
ที่ใช้งานได้จริง ซึ่งกระบวนการในการทำงานของวิศวกรรมศาสตร์นั้น สามารถนำมาบูรณาการ
กับหลักแนวคิดของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ได้ (ยศวีร์ สายฟ้า: 2557, 1)
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทำให้เกิดการพัฒนาทางความคิดออกแบบสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์
มากยิ่งขึ้น
Mathematic (คณิตศาสตร์) คือ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องของการคำนวณ (ราชบัณฑิตยสถาน:
2557, 225) เป็นการเรียนรู้ในเรื่องราวของจำนวน ตัวเลข รูปแบบ ปริมาตร รูปทรงต่าง ๆ
รวมไปถึงแบบรูปและความสัมพันธ์ (พีชคณิต) ฯลฯ ซึ่งทักษะทางคณิตศาสตร์นี้เป็นทักษะ
ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกแขนงวิชา เพราะเป็นศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้
มีความแม่นยำ และเรายังสามารถพบคณิตศาสตร์ได้ในชีวิตประจำวันของเราแทบจะทุกที่
ทุกเวลาอีกด้วย
สรุปแล้ว STEM กำเนิดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพทั้ง 4 ด้าน
ของเด็กให้มีความพร้อมที่จะก้าวเข้าไปสู่การพัฒนาความรู้ในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการ
เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการต่อยอดโอกาสในการ
เรียนรู้ หรือการทำงานของประชากรในอนาคตต่อไป (ยศวีร์ สายฟ้า: 2557, 5)
“STEM” กับการจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย
การจัดการศึกษาแบบ “STEM” นับว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งครูหลายคนอาจ
มองว่าเป็นสิ่งยากในการจัดการเรียนการสอน เพราะมีการนำเอาหลักการและทฤษฎีของวิชา
แขนงต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้หลายวิชา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนการสอนในระดับปฐมวัย
ได้มีการแทรกสาระของ “STEM” เข้าไปในกิจกรรมประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่ครูส่วนใหญ่ไม่ได้
มีการเน้นหรือแบ่งสัดส่วนของการสอนเป็นรายวิชาที่ชัดเจน ซึ่งครูสามารถที่จะบูรณาการ
“STEM” แทรกเข้าไปในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหน่วยที่ครูจัดขึ้น หรือเลือกตาม
หน่วยที่เด็กสนใจได้อย่างหลากหลาย จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนในห้องมากขึ้น เพราะ
การศึกษาแบบ “STEM” เป็นการศึกษาที่ช่วยทำให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง เปลี่ยนการเรียน
แบบท่องจำมาเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำ ปฏิบัติจริง ทดลอง สืบค้น และใช้วัสดุอุปกรณ์ ทำให้
เด็กได้ใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ได้รับความสนุกสนาน และมีความสนใจใน
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การบูรณาการเรื่อง “STEM” สู่การเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยจึงไม่ใช่เรื่องยาก
เพียงแค่ครูจัดกิจกรรมหรือสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วกำหนดปัญหาขึ้นมาให้เด็กได้ฝึกฝน
การแก้ปัญหา เป็นการกระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้แสดงความสามารถที่หลากหลาย หากผลของ
การทดลองหรือการแก้ปัญหาที่เด็กค้นพบนั้น ยังไม่ถูกต้องตามที่ครูกำหนดไว้ ครูก็ควรให้เด็ก
ได้ทดลองหรือปฏิบัติซ้ำเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง โดยทั้งนี้ครูอาจแนะนำความรู้เพิ่มเติมให้แก่เด็ก
เพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นครูยังสามารถนำ “STEM” มาบูรณาการ
กับทักษะในด้านอื่น ๆ ได้อีก เช่น การจัดการศึกษาแบบ “STEAM Education” ที่มีการนำ
“STEM” มาบูรณาการกับทักษะทางศิลปะ “Art” เพื่อจะทำให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
และมีจินตนาการในการออกแบบชิ้นงานนั้น ๆ ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ “STEM Education” จึงเป็นการศึกษาที่เหมาะกับการเรียนการสอนของเด็กยุค
ปัจจุบันเป็นอย่างมากด้วยเนื้อหาที่มีความแปลกใหม่ และเป็นการบูรณาการสาระวิชาแขนงต่าง ๆ
เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ “STEM Education” จะเป็นการศึกษากระแสใหม่
ที่กำลังมาแรงของวงการการศึกษาในบ้านเรา และหากท่านใดสนใจที่จะศึกษารายละเอียดของ
“STEM Education” ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น สามารถลงชื่อสมัครเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ
หลักสูตรการจัดกิจกรรมบูรณาการ “STEM” สำหรับเด็กปฐมวัย โดย ผศ.ดร. ชลาธิป สมาหิโต
ได้ที่ http://www.preschool.or.th/index.php นะครับ รับรองได้ว่าท่านจะได้รับความรู้
กลับไปอย่างเต็มที่แน่นอน...
ตัวอย่างการจัดประสบการณ์ กิจกรรมบูรณาการ STEM / STREAM เรื่อง "ทะเลสีคราม"
ประมวณภาพ "การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ STEM Education สำหรับครูผู้สอนระดับปฐมวัย" อบจ. ชลบุรี
หนังสือที่เกี่ยวข้อง คลิก! เลยค่า ^^ : หนังสือ "การจัดกิจกรรม STEM สำหรับเด็กปฐมวัย
http://www.edtechbooks.com/product/1624404/
โปรโมชั่น!! เซทสุดพิเศษ คลิก! เลยค่า ^^ https://goo.gl/LLPQpe
เอกสารอ้างอิง :
ชลาธิป สมาหิโต. เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมบูรณาการวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย. ณ สมาคมอนุบาลแห่ง
ประเทศไทย. วันที่ 18 ม.ค. และ 8 ก.พ. 2557.
โชดก. 11 มีนาคม พ.ศ. 2557. STEM ไทยจะไป STEM โลก. (Online). Available URL: http://www.
oknation.net/blog/ministryoflearning/2013/09/28/entry-1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา. 10 มีนาคม พ.ศ. 2557. ความหมายของวิทยาศาสตร์. (Online). Available
URL: http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/408-00/
ปัณญานัตย์ วิเศษสมวงศ์. 11 กุมภาพันธ์ 2557. STEM Education หรือระบบ “สะเต็มศึกษา” แก้ปัญหา
ระบบการศึกษาไทยได้หรือ. (Online). Available URL: http://www.aseanthai.net/special-news-
detail.php?id=127
พรทิพย์ ศิริภัทราชัย. (2556) .STEM Education กับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21. 33 (2), 49-56.
ยศวีร์ สายฟ้า. แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบ STEM. เอกสารประกอบการสอนของสาขาวิชาประถมศึกษา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 28 ก.พ., 2557
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร :
ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. แนวทางการจัดการเรียนวิทยาศาสตร์ปฐมวัยตาม
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2546. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,
2551
สสวท. 11 กุมภาพันธ์ 2557. ตั้งสะเต็มศึกษา ส่งเสริมการเรียนวิทย์-คณิต-เทคโนโลยี. (Online).
Available URL: http://www.naewna.com/local/37990.
อภิสิทธิ์ ธงไชย. 11 กุมภาพันธ์ 2557. เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์คืออะไรในสะเต็มศึกษา. สาขา
ออกแบบและเทคโนโลยี. (Online). Available URL: http://designtechnology.ipst.ac.th./index.php
/?option=com_content&view=article&id=208<emid=800
ขอบคุณเจ้าของงานนี้เป็นที่สุดเลยค่ะ