สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย
เรื่องโดย : บรรณาธิการ ED-TECH

      ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กนั้นสามารถเกิดขึ้นได้
ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน เช่น การช่วยเหลืองานบ้าน หรือช่วยพ่อแม่
หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยภารกิจของคุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย
จึงทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกน้อยเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม
พัฒนาการของเด็กให้ดียิ่งขึ้น (ใบตอง 2554) ทาง ED-TECH ของเราจึงขอนำเสนอกิจกรรมหนึ่งที่
คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของลูกน้อยได้ง่าย ๆ นั่นก็คือ
“การเล่านิทาน
ก่อนนอน” เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำร่วมกับ
ลูกน้อยได้แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้ให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย เราลองมาดูกัน
ดีกว่าว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กจะได้รับจากการฟังนิทาน…

      นิทานสำหรับเด็กนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสั่งสอนเด็กโดยผ่านการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน
ซึ่งในการเล่านิทานให้เด็กฟังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีความหลากหลาย เพราะในขณะ
ที่เล่านิทานความรู้สึกในน้ำเสียงของพ่อแม่จะถูกถ่ายทอดไปสู่ตัวของเด็กด้วย หากเล่านิทานด้วย
ความรู้สึกตื่นเต้น เด็กก็จะรู้สึกตื่นเต้นตาม เราเรียกความรู้สึกนี้ว่า “ความรู้สึกร่วมกันระหว่าง
ครอบครัว”
จึงเปรียบเสมือนเป็นสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูก แม้การเล่านิทานเพียง 15-20
นาทีต่อเล่ม จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อลูกน้อยอย่างมากมาย (กรมอนามัย กระทรวง
สาธารณสุข 2550) 
กล่าวคือ ในขณะที่เด็กฟังนิทานก็จะได้รับการพัฒนาทักษะด้านการฟัง การพูด

พร้อมทั้งสร้างจินตนาการ และฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็น
พื้นฐานในการเตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กได้
เป็นอย่างดี

นิทานช่วยส่งเสริมทักษะภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

      ในการส่งเสริมทักษะทางภาษาสำหรับเด็กนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การพูดกับเด็ก
ด้วยภาษาง่าย ๆ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่วิธีที่ง่าย
และสามารถเรียกความสนใจจากเด็กได้ดีที่สุดคือ “การอ่านนิทาน” ให้เด็กฟัง

      จากการศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มกุมารแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดโครงการส่งเสริม
การอ่านและนิสัยรักการอ่านในเด็ก โดยการจัดให้มีอาสาสมัครอ่านนิทานให้เด็กที่มาตรวจที่คลินิก
สุขภาพเด็กดีตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปีฟัง และจากโครงการดังกล่าวพบว่า เด็กที่ฟังนิทานจะมี
พัฒนาการทางคำศัพท์
และการใช้ภาษาที่ดีขึ้น (รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 111) เพราะการอ่าน
หนังสือให้เด็กฟังนั้นจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และช่วยกระตุ้นจินตนาการให้แก่เด็ก
ยิ่งพ่อแม่คุยหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
มากเท่านั้น

      สำหรับการเลือกอ่านนิทานให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ต้องคำนึงถึงความสนใจ การรับรู้ และความสามารถ
ตามช่วงวัยของเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญด้วย เพราะเด็กจะรับรู้นิทาน จากภาพที่มองเห็นและจากเสียง
ที่ได้ยิน โดยเด็กจะเริ่มรับรู้ความหมายในนิทานไปได้ทีละน้อยจนสามารถเชื่อมโยงกับภาพ และสิ่งที่
ได้ยินให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ ดังนั้นการเลือกนิทานที่จะนำมาเล่าให้แก่เด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
จากบทความเรื่อง การส่งเสริมทักษะภาษาสำหรับเด็ก ของ รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ กล่าวถึงพัฒนาการ
ทางภาษาของเด็กแต่ละช่วงวัยไว้ดังนี้

   เด็กช่วงอายุ 4 – 12 เดือน

      เด็กวัยนี้จะมีความสนใจในระยะสั้นประมาณ 5-10 นาที เด็กจะสนใจหนังสือภาพที่เป็นรูปเหมือน
ของคน สัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวันที่มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน หนังสือควรทำมาจาก
ผ้า กระดาษ หรือพลาสติกที่ไม่มีมุมแหลมคม ในขณะอ่านนิทานให้เด็กฟังควรชี้ให้เด็กดูรูปภาพตาม
และให้เด็กได้จับหรือเปิดหนังสือตามเนื้อเรื่องที่อ่านไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมทักษะทางภาษา
ของเด็กในวัยนี้เพิ่มมากขึ้น

   เด็กช่วงอายุ 1 - 3 ปี

      เด็กในวัยนี้จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง และจะชอบในหนังสือที่ตนเองสนใจ ไม่ควร
บังคับให้เด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน ควรจะเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ
เด็กในช่วงนี้จะมีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีมาก หากใช้หนังสือที่มีเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เช่น หนังสือที่มี
ผิวสัมผัสหลากหลาย หนังสือที่มีภาพซ่อนอยู่ หรือหนังสือที่กดและมีเสียงก็จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้เด็ก
ได้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งเด็กในวัยนี้จะมีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 15-20 นาที ดังนั้นในขณะที่อ่าน
นิทานให้เด็กฟัง
ควรพูดเชื่อมโยงถึงสิ่งที่อ่านกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็กเพิ่มเติมเข้าไป
ก็จะช่วยทำให้เด็ก
ได้ความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น

   เด็กช่วงอายุ 3 - 6 ปี

      เด็กวัยนี้จะอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริง
กับเรื่องสมมติ เข้าใจในรูปแบบการอ่าน โดยอ่านจากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง สามารถตอบ
คำถามจากนิทานได้ ดังนั้นนิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย
ภาพประกอบมีสีสดใส
มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะเด็กในวัยนี้
สามารถเชื่อมโยงสัญลักษณ์ตัวพยัญชนะ กับเสียงสระได้แล้ว และหนังสือที่เป็นคำคล้องจองก็จะช่วย
พัฒนาทักษะด้านภาษาของเด็ก
ในวัยนี้เพิ่มยิ่งขึ้น (รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 111-112)

      ดังนั้น หลักสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็ก สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการมี
ปฏิสัมพันธ์สื่อสารร่วมกันกับเด็กตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย
(รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 112)
หรือผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา เช่น การอ่านนิทาน การพูด การฟัง
ก็จะเป็นการช่วยเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียน อารมณ์ และสังคมของเด็ก ช่วยให้เด็กเติบโต
ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพต่อไป 

 

นิทานมีประโยชน์กับลูกน้อยมากกว่าที่คุณคิด

          จากการวิจัยเรื่องสมองทำให้นักวิจัยเชื่อมั่นว่า การเล่านิทานจะช่วยให้เด็กพัฒนากระบวนการคิด 
การเชื่อมโยงเรื่องราว และการจัดระบบเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มกระบวนการทำงานของสมอง
แก่เด็ก
(ใบตอง 2554) การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมาก ถ้าคุณพ่อ
คุณแม่อยากให้ลูกเป็นคน
ชอบอ่าน ชอบเขียน และเรียนเก่ง ก็ควรเริ่มต้นด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟัง
เป็นประจำ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดี
ในการอ่านหนังสือให้แก่ลูกน้อย นอกจากนั้นแล้วนิทานยังมีประโยชน์
ต่อ
ลูกน้อยของเราอีกมากมาย จากบทความของกิ่งกาญจน์ ทวีศักดิ์ เรื่อง ประโยชน์ของนิทาน สามารถ
สรุปได้ ดังนี้

  1. นิทานช่วยปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิด ช่างถามและช่างสังเกต มีความมั่นใจ ฉลาด กล้า
    แสดงความคิดเห็น คือ มีความฉลาดทั้งทางปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ด้วย 
  2. นิทานทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น เพราะการเล่านิทานเปรียบเสมือนเป็นการสอนภาษา
    ไปในตัว เมื่อเด็กได้ยินได้ฟังรูปประโยค หรือการใช้ภาษา ก็จะทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดี
    ต่อการเรียนภาษามากขึ้น
  3. นิทานทำให้เด็กจับประเด็นและวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพราะการเล่านิทานซ้ำ ๆ
    จนเด็ก
    จำได้ทั้งเรื่องนั้น จะทำให้เด็กมองเห็นภาพรวมของเรื่อง และจับประเด็นสำคัญ
    จากเรื่องได้ง่ายขึ้น
  4. นิทานช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการ ในขณะที่พ่อแม่เล่านิทานนั้น น้ำเสียงที่ใช้เล่าเรื่องจะกระตุ้น
    ให้เด็กเกิดจินตนาการเป็นภาพ ดังนั้น การเล่านิทานหลาย ๆ เรื่องจึงเป็นการสร้างจินตนาการ
    ใหม่ ๆ ให้กับเด็กไปพร้อมกันด้วย
  5. นิทานช่วยสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เพราะช่วงเวลาในการเล่านิทาน เด็กจะตั้งใจฟังนิทานอย่าง
    ใจจดใจจ่อ ยิ่งเมื่อเล่านิทานที่มีความเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กด้วยแล้ว เด็กก็จะเข้าใจ
    เรื่องในนิทานได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างสมาธิให้กับเด็กอีกวิธีหนึ่ง
     (กิ่งกาญจน์ ทวีสวัสดิ์ 2554)

         

      ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า “นิทาน” ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสร้างความสนุกสนานและความสุขให้แก่
เด็กเท่านั้น 
แต่ยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กอีกด้วย เห็นไหมล่ะครับว่า นิทาน” ไม่ใช่
เรื่องไร้สาระที่ใช้หลอกเด็ก
ไปวัน ๆ แต่กลับมีประโยชน์มากมายมหาศาล เห็นอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่
ทั้งหลายก็อย่าลืมหยิบหนังสือนิทาน
สนุก ๆ ซักเล่มมาอ่านให้ลูกน้อยของคุณฟังก่อนนอนนะครับ...

   


บรรณานุกรม :

กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณะสุข. คู่มือวิทยากรโรงเรียนพ่อแม่สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. นนทบุรี:
      โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2550.

กิ่งกาญจน์ ทวีสวัสดิ์. 5 มีนาคม พ.ศ. 2557. ประโยชน์ของนิทาน. (Online). Available URL: http://www.
      l3nr.org/posts/309461 

กุลยา ตันติผลาชีวะ. “การเล่านิทาน” วารสารการศึกษาปฐมวัย 2 (2) : 10-19 กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโปรดักส์,
      2541.

เกริก ยุ้นพันธ์. การเล่านิทาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สุวิริยาสาสน์, 2539.

ฉวีวรรณ กินาวงศ์. การศึกษาเด็ก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2536.

ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ และคณะ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3 การดูแล
      เด็กสุขภาพดี.
กรุงเทพฯ : บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด, 2556.

ใบตอง.  มีนาคม พ.ศ 2557. นิทานมีประโยชน์มากกว่าความสนุก. [Online]. Available URL: http://www.
      gotoknow.org/posts/313966 

พรจันทร์ จันทวิมล. (2529). การเล่านิทานสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน. นิตยสารรักลูก. 4 (41) : 103-105.

พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์. ทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
      2553.

Nestle Smart Healthy Stay Healthy. 5 มีนาคม พ.ศ 2557. อ่านหนังสือให้ลูกฟังกันดีกว่า. [Online]. 
      Available URL: http://www.nestlebaby.com/th/parenting/family_life/reading_
to_your_baby/.





ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view