การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย
เรื่องโดย : บรรณาธิการ ED-TECH
ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กนั้นสามารถเกิดขึ้นได้
ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน เช่น การช่วยเหลืองานบ้าน หรือช่วยพ่อแม่
หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยภารกิจของคุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย
จึงทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกน้อยเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม
พัฒนาการของเด็กให้ดียิ่งขึ้น (ใบตอง 2554) ทาง ED-TECH ของเราจึงขอนำเสนอกิจกรรมหนึ่งที่
คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของลูกน้อยได้ง่าย ๆ นั่นก็คือ
“การเล่านิทานก่อนนอน” เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำร่วมกับ
ลูกน้อยได้แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้ให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย เราลองมาดูกัน
ดีกว่าว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กจะได้รับจากการฟังนิทาน…
นิทานสำหรับเด็กนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสั่งสอนเด็กโดยผ่านการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน
ซึ่งในการเล่านิทานให้เด็กฟังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีความหลากหลาย เพราะในขณะ
ที่เล่านิทานความรู้สึกในน้ำเสียงของพ่อแม่จะถูกถ่ายทอดไปสู่ตัวของเด็กด้วย หากเล่านิทานด้วย
ความรู้สึกตื่นเต้น เด็กก็จะรู้สึกตื่นเต้นตาม เราเรียกความรู้สึกนี้ว่า “ความรู้สึกร่วมกันระหว่าง
ครอบครัว” จึงเปรียบเสมือนเป็นสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูก แม้การเล่านิทานเพียง 15-20
นาทีต่อเล่ม จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อลูกน้อยอย่างมากมาย (กรมอนามัย กระทรวง
สาธารณสุข 2550) กล่าวคือ ในขณะที่เด็กฟังนิทานก็จะได้รับการพัฒนาทักษะด้านการฟัง การพูด
พร้อมทั้งสร้างจินตนาการ และฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็น
พื้นฐานในการเตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กได้
เป็นอย่างดี
นิทานช่วยส่งเสริมทักษะภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
ในการส่งเสริมทักษะทางภาษาสำหรับเด็กนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การพูดกับเด็ก
ด้วยภาษาง่าย ๆ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่วิธีที่ง่าย
และสามารถเรียกความสนใจจากเด็กได้ดีที่สุดคือ “การอ่านนิทาน” ให้เด็กฟัง
จากการศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มกุมารแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดโครงการส่งเสริม
การอ่านและนิสัยรักการอ่านในเด็ก โดยการจัดให้มีอาสาสมัครอ่านนิทานให้เด็กที่มาตรวจที่คลินิก
สุขภาพเด็กดีตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปีฟัง และจากโครงการดังกล่าวพบว่า เด็กที่ฟังนิทานจะมี
พัฒนาการทางคำศัพท์ และการใช้ภาษาที่ดีขึ้น (รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 111) เพราะการอ่าน
หนังสือให้เด็กฟังนั้นจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และช่วยกระตุ้นจินตนาการให้แก่เด็ก
ยิ่งพ่อแม่คุยหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
มากเท่านั้น
สำหรับการเลือกอ่านนิทานให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ต้องคำนึงถึงความสนใจ การรับรู้ และความสามารถ
ตามช่วงวัยของเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญด้วย เพราะเด็กจะรับรู้นิทาน จากภาพที่มองเห็นและจากเสียง
ที่ได้ยิน โดยเด็กจะเริ่มรับรู้ความหมายในนิทานไปได้ทีละน้อยจนสามารถเชื่อมโยงกับภาพ และสิ่งที่
ได้ยินให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ ดังนั้นการเลือกนิทานที่จะนำมาเล่าให้แก่เด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
จากบทความเรื่อง การส่งเสริมทักษะภาษาสำหรับเด็ก ของ รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ กล่าวถึงพัฒนาการ
ทางภาษาของเด็กแต่ละช่วงวัยไว้ดังนี้
เด็กช่วงอายุ 4 – 12 เดือน
เด็กวัยนี้จะมีความสนใจในระยะสั้นประมาณ 5-10 นาที เด็กจะสนใจหนังสือภาพที่เป็นรูปเหมือน
ของคน สัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวันที่มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน หนังสือควรทำมาจาก
ผ้า กระดาษ หรือพลาสติกที่ไม่มีมุมแหลมคม ในขณะอ่านนิทานให้เด็กฟังควรชี้ให้เด็กดูรูปภาพตาม
และให้เด็กได้จับหรือเปิดหนังสือตามเนื้อเรื่องที่อ่านไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมทักษะทางภาษา
ของเด็กในวัยนี้เพิ่มมากขึ้น
เด็กช่วงอายุ 1 - 3 ปี
เด็กในวัยนี้จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง และจะชอบในหนังสือที่ตนเองสนใจ ไม่ควร
บังคับให้เด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน ควรจะเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ
เด็กในช่วงนี้จะมีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีมาก หากใช้หนังสือที่มีเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เช่น หนังสือที่มี
ผิวสัมผัสหลากหลาย หนังสือที่มีภาพซ่อนอยู่ หรือหนังสือที่กดและมีเสียงก็จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้เด็ก
ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเด็กในวัยนี้จะมีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 15-20 นาที ดังนั้นในขณะที่อ่าน
นิทานให้เด็กฟัง ควรพูดเชื่อมโยงถึงสิ่งที่อ่านกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็กเพิ่มเติมเข้าไป
ก็จะช่วยทำให้เด็กได้ความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น
เด็กช่วงอายุ 3 - 6 ปี
เด็กวัยนี้จะอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริง
กับเรื่องสมมติ เข้าใจในรูปแบบการอ่าน โดยอ่านจากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง สามารถตอบ
คำถามจากนิทานได้ ดังนั้นนิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย
ภาพประกอบมีสีสดใส มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะเด็กในวัยนี้
สามารถเชื่อมโยงสัญลักษณ์ตัวพยัญชนะ กับเสียงสระได้แล้ว และหนังสือที่เป็นคำคล้องจองก็จะช่วย
พัฒนาทักษะด้านภาษาของเด็กในวัยนี้เพิ่มยิ่งขึ้น (รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 111-112)
ดังนั้น หลักสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็ก สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการมี
ปฏิสัมพันธ์สื่อสารร่วมกันกับเด็กตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย (รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ 2556, 112)
หรือผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา เช่น การอ่านนิทาน การพูด การฟัง
ก็จะเป็นการช่วยเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียน อารมณ์ และสังคมของเด็ก ช่วยให้เด็กเติบโต
ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นิทานมีประโยชน์กับลูกน้อยมากกว่าที่คุณคิด
จากการวิจัยเรื่องสมองทำให้นักวิจัยเชื่อมั่นว่า การเล่านิทานจะช่วยให้เด็กพัฒนากระบวนการคิด
การเชื่อมโยงเรื่องราว และการจัดระบบเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มกระบวนการทำงานของสมอง
แก่เด็ก (ใบตอง 2554) การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมาก ถ้าคุณพ่อ
คุณแม่อยากให้ลูกเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียน และเรียนเก่ง ก็ควรเริ่มต้นด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟัง
เป็นประจำ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการอ่านหนังสือให้แก่ลูกน้อย นอกจากนั้นแล้วนิทานยังมีประโยชน์
ต่อลูกน้อยของเราอีกมากมาย จากบทความของกิ่งกาญจน์ ทวีศักดิ์ เรื่อง ประโยชน์ของนิทาน สามารถ
สรุปได้ ดังนี้
- นิทานช่วยปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิด ช่างถามและช่างสังเกต มีความมั่นใจ ฉลาด กล้า
แสดงความคิดเห็น คือ มีความฉลาดทั้งทางปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ด้วย - นิทานทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น เพราะการเล่านิทานเปรียบเสมือนเป็นการสอนภาษา
ไปในตัว เมื่อเด็กได้ยินได้ฟังรูปประโยค หรือการใช้ภาษา ก็จะทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดี
ต่อการเรียนภาษามากขึ้น - นิทานทำให้เด็กจับประเด็นและวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพราะการเล่านิทานซ้ำ ๆ
จนเด็กจำได้ทั้งเรื่องนั้น จะทำให้เด็กมองเห็นภาพรวมของเรื่อง และจับประเด็นสำคัญ
จากเรื่องได้ง่ายขึ้น - นิทานช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการ ในขณะที่พ่อแม่เล่านิทานนั้น น้ำเสียงที่ใช้เล่าเรื่องจะกระตุ้น
ให้เด็กเกิดจินตนาการเป็นภาพ ดังนั้น การเล่านิทานหลาย ๆ เรื่องจึงเป็นการสร้างจินตนาการ
ใหม่ ๆ ให้กับเด็กไปพร้อมกันด้วย - นิทานช่วยสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เพราะช่วงเวลาในการเล่านิทาน เด็กจะตั้งใจฟังนิทานอย่าง
ใจจดใจจ่อ ยิ่งเมื่อเล่านิทานที่มีความเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กด้วยแล้ว เด็กก็จะเข้าใจ
เรื่องในนิทานได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างสมาธิให้กับเด็กอีกวิธีหนึ่ง (กิ่งกาญจน์ ทวีสวัสดิ์ 2554)
ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า “นิทาน” ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสร้างความสนุกสนานและความสุขให้แก่
เด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กอีกด้วย เห็นไหมล่ะครับว่า “นิทาน” ไม่ใช่
เรื่องไร้สาระที่ใช้หลอกเด็กไปวัน ๆ แต่กลับมีประโยชน์มากมายมหาศาล เห็นอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่
ทั้งหลายก็อย่าลืมหยิบหนังสือนิทานสนุก ๆ ซักเล่มมาอ่านให้ลูกน้อยของคุณฟังก่อนนอนนะครับ...
บรรณานุกรม :
กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณะสุข. คู่มือวิทยากรโรงเรียนพ่อแม่สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. นนทบุรี:
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2550.
กิ่งกาญจน์ ทวีสวัสดิ์. 5 มีนาคม พ.ศ. 2557. ประโยชน์ของนิทาน. (Online). Available URL: http://www.
l3nr.org/posts/309461
กุลยา ตันติผลาชีวะ. “การเล่านิทาน” วารสารการศึกษาปฐมวัย 2 (2) : 10-19 กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโปรดักส์,
2541.
เกริก ยุ้นพันธ์. การเล่านิทาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สุวิริยาสาสน์, 2539.
ฉวีวรรณ กินาวงศ์. การศึกษาเด็ก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2536.
ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ และคณะ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3 การดูแล
เด็กสุขภาพดี. กรุงเทพฯ : บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด, 2556.
ใบตอง. มีนาคม พ.ศ 2557. นิทานมีประโยชน์มากกว่าความสนุก. [Online]. Available URL: http://www.
gotoknow.org/posts/313966
พรจันทร์ จันทวิมล. (2529). การเล่านิทานสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน. นิตยสารรักลูก. 4 (41) : 103-105.
พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์. ทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2553.
Nestle Smart Healthy Stay Healthy. 5 มีนาคม พ.ศ 2557. อ่านหนังสือให้ลูกฟังกันดีกว่า. [Online].
Available URL: http://www.nestlebaby.com/th/parenting/family_life/reading_to_your_baby/.
ความคิดเห็น