“12 สิงหาคม” วันแม่แห่งชาติ
เรียบเรียงโดย : บรรณาธิการ ED-TECH
เมื่อยังเล็กแม่เฝ้ารักด้วยพันผูก ดั่งแม่ปลูกต้นไม้ให้เติบใหญ่
เฝ้าถนอมดูแลลูกยิ่งกว่าใคร ไม่ห่างไกลคอยชิดใกล้ทุกวันคืน
ครั้นเติบใหญ่ต้องเผชิญโลกภายนอก อาจช้ำชอกอ่อนล้าหมดแรงฝัน
แต่แม่ยังอยู่เคียงข้างไม่ห่างกัน คอยแบ่งปันพลังใจให้เรื่อยมา
พระคุณแม่ยิ่งใหญ่หาใดเปรียบ แม้นสิ่งใดมาเทียบมิอาจเท่า
ท่านถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรา สุขหรือเศร้าท่านเคียงข้างไม่ห่างกาย
พวงมะลิขอมอบให้แทนใจลูก ร้อยเรียงผูกเป็นสายรักไปสู่ท่าน
แม้นแก่เฒ่าลูกจะเฝ้าป้องภัยพาน ขอกราบกรานตอบแทนคุณของมารดา
นับตั้งแต่วินาทีที่ชีวิตของเราได้เริ่มต้นขึ้น “แม่” เป็นบุคคลสำคัญที่ผูกพันกับเรามาก เพราะตั้งแต่
แม่อุ้มท้องจนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น แม่คือผู้ที่คอยดูแลด้วยความรักและความหวังว่าลูกจะเติบโต
ได้อย่างสมบูรณ์ ดังความหมายของคำว่าแม่ที่ราชบัณฑิตยสถานได้นิยามว่า “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือ
เลี้ยงดูลูก”
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระ
กรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำขวัญเนื่องในวันแม่แห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2557
ความว่า "รักเรียน รู้งาน ถนอมบ้านเมืองไทย ร่วมใจสามัคคี คือลูกที่ดีของแม่"
และเนื่องในวันที่ 12 สิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้เป็นวันแม่แห่งชาติของชาวไทย นับเป็นวันสำคัญ
อีกวันหนึ่งที่ลูกจะได้แสดงความรักตอบแทนให้แม่ ทั้งยังเป็นวันที่มีประวัติความเป็นมารวมถึงรายละเอียด
ที่น่าสนใจสำหรับลูกๆ ทุกคน ดังนั้นทาง Ed-Tech จึงมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับวันแม่แห่งชาติมาฝากกันค่ะ
ประวัติความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ
ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่จัดให้มี “งานวันแม่แห่งชาติ” ขึ้นอย่างเป็นทางการ
จากความพยายามของแอนนา จาร์วิส เธอได้เขียนบทความและเขียนหนังสือติดต่อกับบุคคลต่างๆ
เพื่อให้เห็นความสำคัญของแม่เป็นเวลาถึง 2 ปี จนในปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ประธานาธิบดี
โทมัส วูดโรว์ วิลสัน จึงเห็นพ้องและลงนามในคำสั่งให้วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม
เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยมีดอกคาร์เนชั่นเป็นสัญลักษณ์วันแม่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่
ให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีขาว
หลายประเทศในอาเซียนได้กำหนดให้วันแม่แห่งชาติตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน
พฤษภาคมประเทศดังกล่าว ได้แก่ มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไนดารุสซาลาม
ส่วนที่ประเทศลาวและเวียดนามกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันแม่ ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล และประเทศ
อินโดนีเซียกำหนดให้วันที่ 22 ธันวาคมเป็นวันแม่ เนื่องจากวันดังกล่าวในปี พ.ศ. 2471 เป็นวันที่เกิด
สภาสตรีแห่งอินโดนีเซียขึ้นมาครั้งแรก
ในประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ที่สวนอัมพร
โดยกระทรวงการสาธารณสุข แต่ปีต่อมาก็หยุดจัดงานเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามยุติลง
คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้อนุมัติให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
จัดงานวันแม่ขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ บริเวณสวนอัมพร และจัดติดต่อจนเป็นที่นิยม
ของประชาชน แต่แล้วงานวันแม่ก็ได้เลิกล้มไปเนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
จึงหมดบทบาทไปด้วย ทำให้ขาดผู้สนับสนุนในการจัดงาน ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ได้รื้อฟื้นการจัดงานวันแม่ขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมศีลธรรมและจิตใจที่จะจัด
งานวันแม่ขึ้นใหม่ และเพื่อเป็นการเทิดทูนพระเกียรติคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงให้ถือว่าวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นวันแม่ และได้เริ่มจัดงานวันแม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา
พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญ
พระราชกรณียกิจ เพื่อทำนุบำรุงราชอาณาจักรและรักษามรดกวัฒนธรรมไทยที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้
จึงเกิดโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อชาวไทยทั้งประเทศ ซึ่งโครงการพัฒนาดังกล่าว
ได้ครอบคลุมลักษณะงาน 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการป่ารักน้ำ โครงการบ้านเล็ก
ในป่าใหญ่ โครงการพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต เป็นต้น
2. การศึกษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เดือดร้อนยากจน ตลอดจนเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส
ทางการศึกษา นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ศาลารวมใจ”
ในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักการศึกษา รู้จักศึกษาด้วยตนเอง
3. สาธารณสุข เช่น โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการทันตกรรมพระราชทาน โครงการ
หมอหมู่บ้าน เป็นต้น
4. ศิลปวัฒนธรรม เช่น โครงการศิลปาชีพพิเศษ ชุดไทยพระราชนิยมตามแนวพระราชดำริ เป็นต้น
สัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ
ในช่วงแรกประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ดอกไม้อะไรเป็นสัญลักษณ์แทนวันแม่แห่งชาติ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2497 คณะกรรมการจัดงานจึงได้เชิญชวนผู้ที่มาร่วมงานวันแม่ทุกคนประดับ
เครื่องแต่งกายด้วยดอกมะลิ และให้ลูกนำดอกมะลิไปมอบให้แก่แม่ เพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีอยู่
ทุกฤดูกาล มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณมากมายที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ตั้งแต่ยังเป็นดอกสดจนกระทั่งกลายเป็นดอกแห้ง ดังนั้นดอกมะลิจึงเปรียบดังความรักอันบริสุทธิ์ของแม่
ที่มีให้ต่อลูกทั้งชีวิต มิเคยเสื่อมคลาย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจัดงานวันแม่จึงได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์
เลือกดอกมะลิให้เป็นสัญลักษณ์ของงานวันแม่แห่งชาติ
กิจกรรมในวันแม่แห่งชาติ
การจัดงานวันแม่แห่งชาตินั้น จัดขึ้นเพื่อให้ลูกทุกคนได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ แสดงความกตัญญู
กตเวทิตาต่อแม่ของตนและแม่ของแผ่นดิน สำหรับบางครอบครัวการแสดงความรักต่อกันอาจเป็นเรื่อง
ปกติที่ทำเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่ในบางครอบครัวที่ไม่ค่อยได้แสดงความรักต่อกัน วันแม่ถือเป็นวันดี
ที่ลูกจะได้แสดงความรักต่อแม่
ในวันแม่นั้นเด็กๆ อาจช่วยงานบ้านเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของแม่ แต่งานบ้านนั้นควรเป็นงาน
ที่เด็กทำได้ตามความสามารถและวัย เช่น ทิ้งขยะ กวาดบ้าน เช็ดโต๊ะกินข้าว เป็นต้น หรือทำงานประดิษฐ์
แบบง่ายๆ เช่น บัตรอวยพร ภาพตัดปะ ช่อดอกมะลิ มาลัยมะลิ เป็นต้น ไม่ว่าลูกจะยังเป็นเด็กเล็ก
หรือเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลูกทุกคนต่างก็อยากทำสิ่งดีๆ ให้แม่เช่นเดียวกับที่แม่ทำให้ตนมาตลอด
ทุกการกระทำล้วนทำด้วยใจ หวังให้แม่มีความสุขและชื่นใจกับสิ่งที่ลูกทำ
การกำหนดวันแม่ขึ้นอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญกับแม่ทุกคน เนื่องจาก
พระคุณของแม่นั้นยิ่งใหญ่ไม่มีสิ่งใดเปรียบได้ ทุกสิ่งที่แม่ทำให้ลูกตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่นั้น
แม่ไม่ได้ทำตามหน้าที่ แต่แม่ทำด้วยหัวใจเพราะอยากเห็นอนาคตที่ดีของลูก ดังนั้นเราในฐานะลูก
จึงควรให้ความเคารพและดูแลแม่เป็นการตอบแทน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะวันแม่แห่งชาติเท่านั้น แต่เรา
ควรดูแลแม่ทุกวันเช่นเดียวกับที่แม่ดูแลเราในวัยเด็กไม่เคยห่าง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาระน่ารู้ที่ทาง Ed-Tech นำมาเสนอในวันนี้ สำหรับครั้งหน้าเราจะนำ
เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรมาฝากอีก ต้องคอยติดตามกันนะคะ
บรรณานุกรม
หนังสือ
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร:
ราชบัณฑิตยสถาน.
ส. พลายน้อย. (ม.ป.ป.). เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง. ม.ป.ท.: ดอกหญ้า.
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
กระปุกดอทคอม. (2557). คำขวัญวันแม่. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2557, จาก
http://hilight.kapook.com/view/842
กองบรรณาธิการ บียูนิวส์ ข่าวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ. (2546). วันแม่. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2557, จาก
http://www.bu.ac.th/th/bunews/2546/Aug23/
พรรณไม้ดอทคอม. วันแม่...ดอกมะลิดอกไม้สำหรับแม่. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2557, จาก
http://www.panmai.com/MotherDay/MotherDay.shtml
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2552). พระแม่แห่งสยาม. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2557, จาก
library2.parliament.go.th/museum/content/doc01.pdf
Sutthiporn. (12 สิงหาคม 2554). วันแม่ในอาเซียน. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2557, จาก
http://news.voicetv.co.th/global/16211.html
พบกับ สินค้าโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคุณแม่ค่ะ^^ : http://www.edtechbooks.com/product-category/337493/สินค้าราคาพิเศษ
ความคิดเห็น